วีเจ...ไม่ง่าย
วีเจ เป็นคำที่ใช้เรียกพิธีกรและผู้ดำเนินรายการ
ส่วนใหญ่เป็นรายการบันเทิงทางช่องเพลง หรือรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับเพลง ส่วนใหญ่เรามักพบวีเจ “พูดเข้าเพลง” คือบอกข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับมิวสิกวิดีโอเพลงที่กำลังจะเสนอ
และ/หรือข้อมูลข่าวสารของช่องหรือรายการที่จัดอยู่ สมัยที่ผู้เขียนยังอยู่ในวงการ รู้สึกว่า วีเจ จะเป็นอาชีพที่วัยรุ่นยุคนี้อยากจะเป็นกันซะเหลือเกิน
แต่จริงๆ แล้ว อาชีพวีเจมีมานานเป็นสิบปีแล้วนะคะหนู สมัยก่อนคำว่า วีเจ หรือ VJ คือ Video Jockey หมายถึงคนเปิดมิวสิควิดีโอทางโทรทัศน์
(ก็วิทยุยังมี ดีเจหรือ DJ ที่ย่อมาจาก disc jockey ซึ่งหมายถึงคนที่เปิดแผ่นเสียงทางวิทยุ
(ปัจจุบันเปิดจากไฟล์ไปแล้ว แต่ก็ยังเรียกกันว่า DJ) ได้เลย)
กำเนิดอาชีพ “วีเจ”
Wikipedia บอกว่าที่มาของวีเจ มีจุดเริ่มต้นจากไนท์คลับชื่อ “ฮูราห์” (Hurrah) ในนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ไนท์คลับแห่งนี้เชิญ เมอร์ริลล์ อัลดิเกรี่ ให้นำหนังทดลอง (experimental film) มาฉายให้คนในคลับดู หนังทดลองที่ว่านี้ก็คือการฉายภาพวิดีโอ พร้อมๆ กับที่ดีเจเปิดแผ่นไปด้วย จะได้ไม่ขัดใจคนมาเที่ยวคลับ ด้วยเหตุนี้เอง “ฮูราห์” ก็เลยเป็นสถานที่สาธารณะแห่งแรกในนิวเยอร์คที่ฉายวิดีโอประกอบกับดนตรี
อันที่จริงในยุค 80s ยังไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่า “มิวสิกวิดีโอ” แต่อย่างใด การเป็น “วิดีโอ จ็อคกี้” หรือ “วีเจ” ของเมอร์ริล คือการถ่ายคลิปวิดีโอสดๆ ร่วมกับการฉายภาพจากแผ่นฟิล์มที่เปิดวนไปเรื่อยๆ
มีการตัดสลับภาพระหว่างเครื่องเล่นวิดีโอ (สมัยนั้นใช้ระบบยูเมติก 2 เครื่อง) ประกอบกับการเล่นสดของวงดนตรี
มิวสิควิดีโอ และ “วีเจ” เริ่มเป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในหมู่วัยรุ่นเมื่อโทรทัศน์ช่องเอ็มทีวี
(MTV – Music Television) เกิดขึ้นในยุค 80s (ถ้าจำไม่ผิดคือปี 1984) จนในที่สุดอาชีพ “วีเจ” ก็ไม่ใช่แค่ “คนพูดเข้าเพลง” แต่ยังเป็นคนดัง ดาวเด่น
หรือแม้กระทั่ง “ผู้สื่อข่าวดนตรี” ที่จัดรายการของตัวเองในช่องอีกด้วย
เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ เมื่ออะไรดังก็มักจะเกิดสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นมามากมาย
ดังนั้น เมื่อ เอ็มทีวี บูม ช่องเพลงที่มีกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เหมือนและแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา
ยุโรป และ เอเชีย อย่างช่อง Zik (เล่นเพลงแร็พ R&B) ของฝรั่งเศส ช่อง Channel [V] ที่เกิดมาเพื่อแข่งกับ MTV โดยเฉพาะ หรือ CMC ช่องเพลงคันทรี่ในอเมริกา บางช่องมีวีเจ
บางช่องก็ไม่มี แต่คำว่า “วีเจ” กลายเป็นชื่อเรียกพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการของช่องต่างๆ
เหล่านี้ไปเสียแล้ว แม้ว่าหลายช่องจะพยายามหาคำมาเรียกพิธีกรเพลงในช่องของตนโดยเฉพาะ
แต่ก็ดูเหมือนว่าจะลบคำว่า วีเจ ออกไปไม่ได้ ทำให้ “วีเจ” กลายเป็นคำเรียกผู้ดำเนินรายการทางช่องเพลง
เหมือนใช้คำว่า แฟ้บ เพื่อเรียกผงซักฟอก และคำว่าซีร็อกซ์แทนคำว่าถ่ายเอกสารนั่นเลย
มันก็เลยยิ่งทำให้อาชีพ “วีเจ”
กลายเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นที่รักเสียงเพลงมากขึ้นไปอีกเจ้าของช่องเพลงก็มักใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางสร้างกิจกรรมทางการตลาดให้กับตัวเองด้วยการจัดให้มีกิจกรรมเสาะหา
“วีเจ” หน้าใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละช่องจะตั้งชื่อกิจกรรมกันไป
ทำไมวัยรุ่นถึงอยากเป็น วีเจ
วีเจ นั้น “เท่”
เพราะเขาหรือเธอ คือกูรูด้านดนตรี (นอกเหนือไปจากความจริงที่ว่าเขาหรือเธอเป็นคนหน้าตาดีและได้ออกทีวี)
แต่งตัวสวยงามมีสไตล์...คือ “เพื่อน” ที่นำข่าวคราวในแวดวงดนตรีมาบอก มาเปิดมิวสิกวิดีโอ (ที่เรามักได้ยินเรียกกันสั้นๆ
ว่า “มิวสิกฯ”หรือ “เอ็มวี”) เพลงใหม่ๆ
ให้ได้ดู วีเจ จึงมีภาพลักษณ์ของคนที่รู้จักเพลงเยอะและ “ทันสมัย” อยู่เสมอ ทำให้คนที่เป็นวีเจ กลายเป็นไอดอล (Idol)
ของวัยรุ่นไปโดยปริยาย
ที่สำคัญก็คือ คนธรรมดาๆ ก็มีโอกาสแจ้งเกิดเป็นวีเจได้ (แน่นอนว่าผ่านทางกิจกรรมเสาะหาวีเจของเหล่าช่องเพลงนั่นเอง)
นอกเหนือจากการเป็นคนหน้าตาดีและมีโมเดลลิ่งคอยหางานให้ ซึ่งก็นับว่าน่าสนใจและดูจะเป็นได้ง่ายกว่าการเข้าไปทำอาชีพอื่นๆ
ในวงการมายา ยิ่งสมัยนี้ ความที่เป็นเพลงวัยรุ่นเพื่อวัยรุ่น
แถมยังเป็นยุคที่เปิดโอกาสให้หน้าตาพอดูได้ แต่พูดเก่งและมีสไตล์เป็นของตัวเองได้เสนอ
(ใบ) หน้าทางจอโทรทัศน์ได้มากขึ้นด้วยแล้ว ทำให้การตบเท้าเข้าไปเป็นวีเจ
ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเฉพาะคนหน้าตาดีอีกต่อไป
นอกจากนี้
การเป็น วีเจ โดยเฉพาะรายการหรือช่องที่เปิดเพลงต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นสากลหรือเอเชีย ยังหมายถึงการได้ “โกอินเตอร์” อีกด้วย
และการได้ “โกอินเตอร์” นี่เอง ที่เป็น
“ความเท่” อีกอย่างหนึ่ง เพราะวีเจจะได้สัมผัสกับศิลปินต่างชาติดังๆ
ได้เดินทางไปต่างประเทศ (แม้จะไม่เสมอไป แต่ก็มีโอกาสมากกว่าการเป็นวัยรุ่นธรรมดา)
แถมไปฟรีอีกต่างหาก พูดถึงของฟรีก็ต้องพูดถึงการได้ดูคอนเสิร์ตฟรี ได้ซีดีเพลงฟรี หรือถ้ารายการมีสปอนเซอร์มือเติบ
ก็อาจผลิตภัณฑ์สินค้าของสปอนเซอร์มาใช้ฟรีๆ อีกด้วย
นอกจากจะดูเข้าง่ายกว่าอาชีพในวงการบังเทิงอื่นๆ แล้ว การเป็นวีเจยังเป็นสะพานทอดไปสู่วงการบันเทิงในสาขาอื่นๆ
ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรบนเวทีในงานต่างๆ การได้เข้าไปเล่นเกมโชว์ เป็นนางเอกพระเอกมิวสิกวิดีโอ
เล่นละคร แสดงภาพยนตร์ เป็นนักจัดรายการวิทยุ นายแบบ นางแบบ พรีเซ็นเตอร์โฆษณา แต่ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหนก็คงต้องอาศัยความดังและเสน่ห์ของตัววีเจเอง
น่าเป็นซะขนาดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเป็น “วีเจที่ดี” จะเป็นกันได้ง่ายๆ
เรามักพูดกันเรื่องหน้าตา สไตล์ สเน่ห์ ของวีเจ แต่น้อยคนนักที่จะคำนึงถึงคำว่า “คุณภาพ”
ซึ่งความจริงแล้ว เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รายการและตัววีเจเองน่าเชื่อถือ และ “น่ารัก”
วีเจที่ดี
แค่พูดเข้าเพลง ใครๆก็ทำได้
แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แค่นั้น คนชอบคิดว่าวีเจ คือวัยรุ่นหรือวัยยี่สิบต้นๆ มีการพูดดำเนินรายการด้วยภาษาและท่าทางแบบวัยรุ่น
ดูสบายๆ เป็นกันเอง เพราะจัดรายการให้วัยรุ่นดู แต่ก็ไม่ควรลืมว่า วีเจ คือ “สื่อมวลชน”
และยังเป็นตัวอย่างของเยาวชนด้วย เพราะวีเจสามารถเข้าถึงคนดูที่เป็นวัยรุ่นหรือเยาวชนได้ดีกว่าพิธีกรตามรายการโทรทัศน์อื่นๆ
การจะเป็นวีเจจึงควรต้องตระหนักในหน้าที่ทางสังคมในฐานะ “สื่อมวลชน” ด้วย
(เขียนไปก็รู้สึกว่าตัวเองแก่ แต่ก็ยังคิดว่าจำเป็นอยู่ดี – ยอมแก่ถ้าจะทำให้มีวีเจดีๆ
เพิ่มขึ้นได้)
การเป็นวีเจที่ดี
เมื่อวีเจคือพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ
หลักการส่วนใหญ่จึงเหมือนกับการเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ทั่วๆไป
แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้างตามข้อสังเกตที่ได้จากประสบการณ์ของผู้เขียน ดังนี้
1.
การไหว้
ไม่ว่ารายการเพลงนั้นๆ
จะเปิดหรือเล่นแต่มิวสิควิดีโอเพลงไทยอย่างเดียว หรือสากลอย่างเดียว หรือผสมกันไป
แต่ถ้าเป็นรายการที่ทำให้คนไทยดู ก็ต้องเปิดรายการด้วยการ “ไหว้” ที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ พร้อมกล่าวคำสวัสดี การไหว้ ถือเป็นการบ่งบอกความตัวตนของวีเจด้วย
วีเจทุกคน จึงควรต้องฝึกการไหว้ให้สวยงาม และต้องไหว้อย่างตั้งใจด้วย
วีเจบางคนยกมือไหว้ อย่างที่เราเรียกว่า ไหว้แบบ “ส.ส.” หรือพนมมือยกขึ้นมาที่หน้าผากโดยไม่มีการก้ม ในขณะที่ วีเจบางคนไหว้แบบพอเป็นพิธี เช่น
ก้มและเงยอย่างรวดเร็วจนเกินไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว วีเจรุ่นใหม่หลายคนเห็นว่าการไหว้เป็นเรื่อง”ทางการ” ไม่เข้ากับรายการสำหรับวัยรุ่น ซึ่งเป็นค่านิยมที่ทางช่องรายการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรปรับเสียใหม่
การรักษาขนบประเพณีไม่ใช่เรื่องเชย และยิ่งไม่ใช่เรื่องน่าอาย เมื่อไหว้เสร็จแล้ว
จะใช้ลูกเล่นทันสมัยหรือ “แนว” ยังไงก็ทำไป
ไม่มีใครว่า ไหว้ให้สวยแล้วกัน วีเจที่ไหว้สวย ผู้ใหญ่ก็ชื่นชมเอ็นดู เด็กหรือเพื่อนก็อยากทำตาม
นอกจากนี้ สิ่งที่พึงระวังโดยเฉพาะวีเจที่เป็นผู้หญิงก็คือ ผม
วีเจที่ผมยาวหรือปล่อยผม เมื่อก้มลงไหว้แล้วมักเงยหน้าและสะบัดผมที่หล่นลงมาปรกหน้าออกไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ทำให้ดูแล้วไม่สวยงาม ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทั้งวีเจและโปรดิวเซอร์รายการที่จะต้องช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย
2.
การพูดอักขระที่ชัดเจน
เป็นพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการอะไรก็ตาม
หลักสากลโลกและสากลประเทศไทยก็คือการออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ทั้งร.เรือ
ล.ลิง และคำควบกล้ำทุกคำต้องพูดให้ชัด เพราะมันมีส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเราเองได้
คำยาก ชื่อเฉพาะ ก็ต้องอ่านให้ถูก ให้เกียรติเจ้าของชื่อบ้าง คำภาษาต่างประเทศ
ไม่ต้องดัดจริตก็ได้ แต่ออกเสียงให้ถูกให้ชัดตามเจ้าของภาษา
(โปรดิวเซอร์ช่วยทำการบ้านด้วย คุณต้องรู้ว่าชื่อภาษาต่างด้าวที่นำมาให้วีเจพูดนั้น
อ่านว่าอย่างไร)
ขอแก่อีกที – ได้โปรดพึงระลึกไว้ว่า
วีเจ เป็นผู้ “สื่อ” “สาร” ที่จะไปยังเยาวชนและคนรุ่นใหม่ คุณสามารถช่วยรักษาวัฒนธรรมทางภาษา (ไม่ให้วิบัติไปมากกว่านี้)
You got the power คุณมีอำนาจในมือ – ทำเถิด ถ้ามันยากก็หัด
ซ้อม พูดบ่อยๆ พูดในชีวิตประจำวันนั่นแหละ เอาให้ติดเป็นนิสัย
เวลาจัดรายการจะได้ไม่ต้องกังวลมาก พูดชัดออกเสียงถูกต้อง
ดูและฟังแล้วก็รื่นหูดี
3.
การแสดงสีหน้าและแววตา
“ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ”
เพราะว่าแววตา สามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้เป็นอย่างดี การจัดรายการให้ดูสนุกและไม่น่าเบื่อ
วีเจ ต้องมีสีหน้าและน้ำเสียงที่สื่อเช่นนั้นด้วย และความรู้สึกสนุกสนาน มีพลังนี้
ก็แสดงออกมาทางแววตาและสีหน้านี่เอง เมื่อวีเจ ยิ้มแย้มแจ่มใส
รู้สึกสนุกกับงานของตน คนดูก็จะสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ด้วยเช่นกัน และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง
ที่ผู้เขียนเชื่อว่าการให้วีเจท่องบทดีกว่าการอ่านสคริปต์จากหน้าจอ (ที่เรียก teleprompter)
เพราะเมื่อเราอ่าน ตาจะดู “แข็ง” เพราะต้องใช้สมาธิในการอ่านบทจากจอ ทำให้การแสดงสีหน้าและแววตาไม่ไปตามเนื้อหาที่พูด
สคริปต์หรือบทสำหรับวีเจ
จึงมักเขียนเพื่อเป็นแนวทาง (guideline) ในการพูด มากกว่าจะบังคับให้พูดตามบทแบบคำต่อคำ เพราะเราต้องการให้วีเจทำความเข้าใจกับบท
จับประเด็นให้ได้ (นี่ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่วีเจและผู้ดำเนินรายการทั่วไปต้องมี)
แล้วพูดถ่ายทอดออกมาด้วยสไตล์การพูดการแสดงออกของตนเอง
ซึ่งจะทำให้การจัดรายการดูเป็นธรรมชาติมากกว่า
4.
การฝึก “ภาษากาย”
การเป็นวีเจรายการที่เปิดแต่มิวสิกวิดีโอไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนอาจคิด
โดยเฉพาะเมื่อรายการนั้นใช้วิธีถ่ายแบบโครมาคีย์ (Chroma Key) หรือที่รู้จักกันว่า
บลูสกรีน (Blue Screen) หรือ กรีนสกรีน (Green
Screen) ซึ่งก็คือการถ่ายวีเจบนฉากสีฟ้าหรือสีเขียว
(วิธีการเดียวกับข่าวพยากรณ์อากาศ) จากนั้นก็ใช้คอมพิวเตอร์สกัดสีฟ้าหรือเขียวออกไป
แล้วใส่กราฟิกเข้าไปเป็นฉากหลังแทน รายการโครมาคีย์ยากกว่ารายการที่เป็นฉากเพราะว่าวีเจต้องยืนพูดอยู่หน้ากล้อง
โดยไม่มี ”ตัวช่วย” คือ พร็อพ ให้หยิบจับ
ทำให้วีเจต้องเรียนรู้ที่จะแสดงลักษณะท่าทางต่างๆ เพื่อประกอบการพูดด้วย
ประเด็นสำคัญของการเป็นวีเจช่องเพลงก็คือ
การเป็นพิธีกรที่ “แตกต่าง” และ “เท่” ในสายตาของวัยรุ่น การยืนประสานมือไว้ที่ระดับเอว
โดยมีการแยกมือออกบ้างเป็นระยะๆ ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สอนและอบรมกันมา แต่เมื่อมาใช้ในช่องเพลงวัยรุ่น
บางครั้งก็กลับทำให้ดู “แข็ง” หรือเป็นทางการเกินไป
วีเจบางคนทำท่าทางเหล่านี้วนไปวนมาตลอดทั้งรายการก็มีเพราะไม่รู้จะเอามือไปไว้ที่ไหน
ดังนั้น วีเจที่ดีจึงควรฝึกฝนสิ่งเหล่านี้จากการศึกษาพิธีกรรายการอื่นๆ งไทยและต่างประเทศ
แล้วนำสิ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับการเป็นวีเจได้ปรับใช้อย่างเหมาะสม
หรือการฝึกจัดรายการหน้ากระจกหรือจัดให้คนอื่นดูก็ช่วยได้มาก แต่วิธีที่จะช่วยให้วีเจเห็นตัวเองได้ดีที่สุดก็คือ
การดูเทปรายการที่ตัวเองจัด เพื่อจะได้เห็นข้อบกพร่อง เช่น เราทำท่าไหนบ่อยเกินไป และยังเป็นการศึกษารายการของตนเองอีกด้วย
นอกจากนี้ การศึกษาจากวีเจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
(เนื่องจากวีเจรายการในไทยแม้ว่าจะโด่งดังมีชื่อเสียง
ก็อาจไม่ได้เป็นเพราะความเป็น “วีเจที่ดี” แต่มีชื่อเสียงเพราะว่าได้ทำอย่างอื่น
เช่น เล่นละคร) ผู้เขียนเคยทำงานกับวีเจคนหนึ่ง เธอเข้าสู่อาชีพวีเจจากกิจกรรม “ค้นหาวีเจ” เมื่อทำงานด้วยกันครั้งแรก
รู้สึกว่าเธอยังแสดงท่าทางไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าไหร่นักเพราะยังใหม่อยู่
แต่เมื่อเจอกันครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ผู้เขียนทั้งประหลาดใจและประทับใจในตัววีเจสาวคนนี้เป็นอย่างมาก
เพราะเธอมีความก้าวหน้าและพัฒนาการเรื่อยไปทุกครั้ง จนการจัดรายการของเธอดูเป็นธรรมชาติและเพลิดเพลินมาก
เธอบอกว่าหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน เธอจะกลับไปดูรายการที่ตัวเองจัดที่บ้าน
โดยมีคุณแม่นั่งดูอยู่ด้วย ดังนั้นเธอจึงได้เห็นตัวเองตอนจัดรายการ โดยมีคุณแม่ช่วยให้ความเห็น
และได้นำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เธอไม่ได้โด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศเหมือนวีเจสาวจากช่องอื่นๆ
เพราะเธอไม่ได้เล่นละคร หรือถ่ายแบบ แต่สำหรับผู้เขียน เธอคือ “วีเจที่ดี” และ “เก่ง” ด้วย มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็น “วีเจ” ทั้งในหน้าที่และจิตใจ
5.
หมั่นทำการบ้านอยู่เสมอ
วีเจที่ดี ต้อง ”รู้จัก” สิ่งที่ตัวเองทำ ถ้าจัดรายการเพลง สิ่งที่วีเจที่ดีควรทำก็คือ ฟังเพลง
ดูมิวสิกวิดีโอ ศึกษาข้อมูลวงการเพลง และติดตามข่าวคราวศิลปิน เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในสคริปต์
และรู้ว่าตัวเองพูดอะไรออกไปบ้างในขณะจัดรายการ อย่าลืมว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ” ถ้าคุณรู้ และเข้าใจในสิ่งที่พูด มันจะแสดงออกมาทั้งทางสีหน้า แววตา
และน้ำเสียง และนั่นทำให้คุณได้รับความเชื่อถือ และแสดงถึงความ “ฉลาด” ของคุณ นอกจากนี้ ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่เพลงประเภทใดประเภทหนึ่ง
อาจไม่ต้องรู้ลึกทุกด้าน หรืออาจเลือกรู้เยอะๆ เฉพาะแนวเพลงที่สนใจก็ได้
แต่ต้องรู้กว้างๆ เผื่อเพลงแนวอื่นๆ ไว้ด้วย เพราะเมื่อคุณทำช่องเพลง
จัดรายการเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทย เอเชียน หรือสากล คนดูหรือผู้อื่นมักยกให้คุณเป็นผู้รู้
หรือ กูรู ด้านเพลง เขาจะถามคุณเรื่องเพลงโดยไม่เลือกถามเฉพาะที่คุณรู้ลึกๆ แต่เขาจะถามและคาดหวังคำตอบจากคุณ
และ ถ้าคุณให้เขาไม่ได้ คุณก็ไม่ “เจ๋งจริง” นอกจากนี้ การ “ทำการบ้าน”
อยู่เสมอ ทำให้วีเจ “มีความรู้”
เวลาพูด แม้ว่าจะมาจากการอ่านจากสคริปต์ที่มีคนเตรียมไว้ให้
แต่วีเจก็จะพูดออกมาอย่าง “คนรู้จริง”
มากกว่าการอ่านทื่อๆ จากบทพูด แถมยังสามารถสอดแทรก “ความรู้” นั้นลงไปในสคริปต์ได้ด้วยตัวเองอีกด้วย บางครั้ง วีเจที่ดี
มีความรู้มากกว่าคนที่เตรียมสคริปต์หรือโปรดิวเซอร์เสียอีก
6.
รู้จักสอดแทรกอารมณ์ขันอย่างเหมาะสม
อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ใครๆ
ก็ต้อนรับ เมื่อใช้อย่างที่ถูกกาละและเทศะ และไม่เป็นการล่วงเกินใคร อารมณ์ขันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนอารมณ์ดีของวีเจ
ความเป็นตัวของตัวเอง และยังช่วยทำให้รายการสนุกขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งนี้
โปรดิวเซอร์คงต้องช่วยดูด้วยว่า “มุก” ที่วีเจใช้นั้น ไม่ “แป้ก” หรือไม่เชยเกินไป
7.
ฝึกการออกเสียง วิธีการพูด
การฝึกออกเสียงจะช่วยให้สามารถพูดนานๆ
ได้โดยไม่เหนื่อยง่าย เวลาที่เราติดไมค์
เสียงหอบหายใจจะได้ยินอย่างชัดเจนมากกว่าตอนที่เราพูดคุยกันตามธรรมดา นอกจากนี้
ก็ต้องฝึกพูดให้เป็นจังหวะจะโคน ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป และต้องรู้จักใช้โทนเสียงเน้นย้ำหรือขึ้นลงให้เหมาะกับเนื้อหาที่พูดอยู่
การพูดด้วยโทนเสียงเดียวกันตลอด ทำให้รายการดูน่าเบื่อ
คนดูหรือฟังแล้วไม่รู้ว่าตรงไหนคือส่วนที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ
8.
ยิ้มเข้าไว้
เช่นเดียวกับการเป็นพิธีกรที่ดี
ต้องรู้จักพูดไปยิ้มไป (แต่ก็ต้องดูเนื้อหาที่พูดด้วย ถ้าเนื้อหาเศร้า การยิ้มก็คงไม่เหมาะ)
เมื่อวีเจรู้สึกสนุก ยิ้ม คนดูดูแล้วเพลินๆ ก็จะพลอยยิ้มตามไปด้วย
9.
อ่านสคริปต์และฝึกซ้อมก่อนถ่ายรายการหรือออกอากาศทุกครั้ง
วีเจ
(และพิธีกรรายการโทรทัศน์ทั้งหลาย) ควรที่จะอ่าน ทำความเข้าใจ และฝึกซ้อมพูดตามสคริปต์ก่อนเริ่มอัดรายการหรือออกอากาศสดจริงทุกครั้ง
(จึงควรต้องมาถึงก่อนเวลานัด) นั่นคือคุณสมบัติที่วีเจหรือพิธีกรระดับแนวหน้าทำกัน
การอ่านก่อนเช่นนี้จะทำให้รู้ล่วงหน้าว่า การออกเสียงตรงไหนที่เราติดขัด
หรือในสคริปต์อาจเว้นวรรคตอนไม่ชัดเจน แม้ว่าบางรายการหรือสถานีโทรทัศน์บางแห่งจะมี
พร็อมพ์เตอร์ (prompter) แต่ขณะถ่ายทำหรือออกอากาศ ถ้าวีเจไม่เคยเห็นสคริปต์มาก่อน
ก็อาจทำให้เกิดปัญหาติดขัด พูดไม่ถูก ลิ้นพันกัน หรือเว้นจังหวะไม่ถูกกลางอากาศได้
ผลก็คือต้องเสียเวลาถ่ายทำใหม่ ส่วนกรณีที่เป็นการออกอากาศสด ก็ต้องกระอักกระอ่วน
แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอีก ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ ยิ่งถ่ายทำหลายเทคเข้า
ก็ยิ่งล้า จากการจัดรายการที่สนุกสนาน พลังงานก็หมดไป
กลายเป็นจัดอย่างเหนื่อยล้าแทน (ทีมงานก็เหนื่อย
ผลก็คืองานที่ออกมาคุณภาพไม่ดีอย่างที่ควร) นอกจากนี้ ถ้ามีชื่อเฉพาะ
การอ่านล่วงหน้าจะทำให้เรามีเวลาศึกษา สอบถามถึงวิธีการออกเสียงที่ถูกต้องอีกด้วย
10.
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่วีเจทุกคนจำเป็นต้องมี
โดยเฉพาะวีเจที่จัดรายการสด เพราะรายการสด เราไม่สามารถเทค
หรือถ่ายใหม่เพื่อทำการแก้ไขสิ่งที่พูดหรือทำผิดพลาดในรายการได้เหมือนรายการเทป สำหรับ
“วีเจ” มีทางเลือกมากกว่าคนที่เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ค่อนข้างเป็นทางการ
หรือ พิธีกรอ่านข่าว เพราะเมื่อวีเจพูดผิด อาจสามารถ “ไหล” ต่อไปได้ เช่นการทำเป็นตลกล้อความผิดพลาดของตัวเอง
และดำเนินรายการต่อไปเหมือนการคุยแบบตัวต่อตัวที่ย่อมมีการพูดผิดบ้างเป็นธรรมชาติของมนุษย์
หรือหากพูดชื่อเพลงผิด หรือชื่อเพลงไม่ตรงกับเพลงที่เปิดจริง เมื่อกลับมาอีกช่วงหนึ่งก็ต้องแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง
โดยอาจมีโปรดิวเซอร์ช่วยเหลือในเรื่องวิธีการพูดว่าจะพูดอะไร และอย่างไร
11.
อ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อดังแล้วต้องไม่ลืมตัว
การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติของคนไทย
ดังนั้น ควรรักษาไว้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นก่อน รุ่นแรก รุ่นหลัง หรือรุ่นปัจจุบัน
เมื่อวีเจเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไปที่ไหน ใครเห็นใครก็รัก
ไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีงานเข้าเต็มมือ นับเงินไม่ไหวกันทีเดียว
ก็ได้แต่หวังว่าเด็กรุ่นใหม่วัย “แนว”
ที่อยากจะเป็นวีเจทั้งหลาย จะลองพิจารณาและนำไปปฏิบัติ เพื่อวงการโทรทัศน์
เพื่อเยาวชน และเพื่อคุณภาพของตนเอง...ถ้ามันยากนักก็บอก แนะนำฟรีไม่มีปัญหา
แต่อย่าหาว่าป้าแก่แล้วบ่น