Wednesday, November 21, 2012

Facebook...คิดก่อนคลิก (likes and shares)

ยอมรับกันตรงๆ ว่าทุกวันนี้สิงอยู่ใน Facebook ทุกครั้งที่มีโอกาส เฝ้ารอคนมากดไลค์ตลอดเวลาหลังโพสต์อะไรลงไป ถ้าไม่มีก็จะอ่านทุกอย่างที่ปรากฏบนหน้า Newsfeed กดไลค์บ้าง แชร์บ้าง

เรียกว่าเสพติด Facebook คงได้

หลายคนคงเคยเจอภาพน่าประทับใจ (หรือโดนใจ) ต่างๆ ที่เพจทั้งกลุ่มทั่วไปและธุรกิจโพสต์ แล้วก็มีคนแชร์ต่อๆ กันมา แล้วก็อยากจะกดแชร์ต่อๆ กันไปให้เพื่อน

แต่ก่อนจะกดแชร์ คิดสักนิด

ทุกไลค์ ทุกแชร์ ของเพจเหล่านี้ คือกลไกทางการตลาด
ภาพบางภาพที่โพสต์จะกดไลค์หรือแชร์ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่บางภาพมันก็ไม่ควร และเราในฐานะผู้ใช้ Facebook ก็ควรมีวิจารณญาณในการกดด้วยเช่นกัน

นานๆ ทีจะพบภาพทารกแรกเกิดที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ซึ่งมาพร้อมข้อความว่าถ้ากดไลค์หรือแชร์ "Facebook" จะบริจาค 1 like 1 dollar หรืออะไรทำนองนี้ ถ้าไม่กดคงเป็นคนที่ใจร้ายมากๆ

แต่มันเป็น scam เป็นเรื่องหลอกลวง

เว็บไซต์ hoax-slayer (http://www.hoax-slayer.com/ectobia-cordis-sick-baby-hoax.shtml) ซึ่งเป็นเว็บที่วิเคราะห์ forward mail หรือข่าวสารข้อมูล หรือภาพที่ส่งต่อกันที่เรียกว่า viral เปิดเผยว่า ภาพเด็กทารกที่หัวใจอยู่นอกร่างกายที่ถูกแชร์กันทางเฟสบุ๊ค ที่อ้างว่าทุกๆ 1 ไลค์ (หรือแชร์) Facebook จะบริจาค 1 เหรียญ (และภาพเด็กที่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่แพร่กระจายด้วยวิธีเดียวกันนี้) นั้น เป็นเรื่องหลอกลวง เพราะ "Facebook will certainly not donate money to help the pictured child in exchange for liking or sharing" เฟสบุ๊คไม่ได้บริจาคอย่างที่เพจเจ้าของโพสต์อ้างอย่างแน่นอน และข้อความใดที่มีการกล่าวอ้างแบบนี้ก็เป็นเรื่องโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น

ภาพเหล่านี้ เป็นภาพที่ถูกขโมยมาและนำมาใช้ (โพสต์) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัวหรือพ่อแม่เด็ก หรือบางครั้งก็ขโมยมาจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อจุดประสงค์อันชั่วร้ายของคนโพสต์

ถามว่าแล้วคนโพสต์ได้อะไร


โพสต์ประเภทนี้เรียกว่า “baby charity scams”

คนร้ายจะขโมยภาพถ่ายทารกที่ป่วยหนักหรือเด็กที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ นานา แล้วก็สร้างข้อมูลลวงว่าเป็นโพสต์เพื่อการกุศลบนเพจของตน ยิ่งไลค์และแชร์เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เหมือนมีคนเข้าหรือ รู้จักเพจมากขึ้น (ซึ่งอาจเป็นเพจที่อุปโลกขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้) และทำให้มีจำนวนผู้เป็นสมาชิกเพจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยิ่งถ้าใครหลงกลไปคอมเม้นต์ ก็จะเปิดโอกาสให้เจ้าของเพจที่เป็นคนไม่ดีเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้

ภาพที่ถูกขโมยมาเหล่านี้ บางภาพเป็นภาพเก่า เด็กที่น่าสงสารเหล่านี้บางคนก็เสียชีวิตแล้ว คุณคิดว่าพ่อแม่หรือญาติของเด็กเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรที่ได้เห็นภาพบุตรหลานที่เสียชีวิตอย่างน่าสลดใจไปแล้ว ถูกขโมยมาและนำมาเผยแพร่ส่งต่อกันทาง Facebook แบบนี้

Facebook ไม่ใช่เครื่องมือสร้างกุศล แต่เป็นเครื่องมือทำการตลาด

ข้อมูลจากเว็บ C2 Education (http://c2educate.tumblr.com/post/21721735958/so-you-think-you-know-baby-charity-scams) อธิบายว่า จำนวนไลค์และแชร์ (และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ผ่าน    โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ทั้งทวิตเตอร์ กูเกิ้ลพลัส ฯลฯ ) ทำให้ search engines รู้ว่าเว็บไหนเป็นที่สนใจหรือมีคุณค่าสำหรับ users และเมื่อ keyword ถูกค้นหา ก็จะเลือกลิงค์นั้นขึ้นมาก่อน

สัญลักษณ์ทางโซเชียลอย่าง tweets likes และ +1’s ที่เราคิดว่าก็แค่กดหรือคลิก ที่จริงมีน้ำหนักมากสำหรับนักการตลาดในการจัดอันดับเว็บ แถมยังเป็นการนำ users เข้าสู่เว็บนั้นโดยตรงด้วย นอกจากนี้ ถ้าเว็บไม่มีคนเข้าหรือเข้าน้อย แบบนานๆ มาที (traffic) กลยุทธ์การออกแบบเว็บให้ปรากฏคำที่เป็น keyword ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อดึงความสนใจของ search engines ก็จะไร้ประโยชน์ทันที เพราะ users จะส่งลิงค์ไปให้เพื่อนต่อไปก็ต่อเมื่อเขาคิดว่าเพจนั้นดี ซึ่งตรงนี้คงเป็นเรื่องของเทคนิคการทำการตลาดออน ไลน์ไปแล้ว คงไม่พูดถึงต่อล่ะ

กลับมาที่เรื่องหลอกลวงบน Facebook กันต่อ

เมื่อรู้แล้วว่าเป็นเรื่องไม่ดี ผิดศีลธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและครอบครัวของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อมารสังคม ต่อไปหากเห็นภาพและการกล่าวอ้างในทำนอง 1 like 1 share 1$ อีก ก็อย่าไปเผลอกดคลิก ยิ่งสงสารยิ่งต้องไม่กด และรายงานหรือ report เฟสบุ๊คด้วยก็จะยิ่งดี

http://www.snopes.com/inboxer/medical/cancerbaby.asp
เป็นลิงค์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับกรณีเด็กหลายรายที่ถูกขโมยภาพมาเป็นเหยื่อ “baby charity scams” ลองเข้าไปดูกัน

ทุกวันนี้ เราอยู่กับอินเทอร์เน็ตและ Facebook จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า ข่าวสารที่่ผ่านเข้ามาทางหน้าจอมันมีทั้งจริงและเท็จ มันไม่ได้ ผ่านการกรอง เหมือนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ (ที่บางทีก็เอาข่าวจากอินเทอร์เน็ตมาออกเหมือนกัน และที่ร้ายกว่านั้น บางทีก็ลืมไปว่าตัวเองเป็น "สื่อ" และมีหน้าที่ "คัดกรอง" ข่าวสาร เพื่อนำเสนอ "ข้อเท็จจริง" ต่อประชาชน ไม่ใช่นำเสนอ "ข่าวในกระแส" เพราะกลัวไม่ทันสมัยและไม่มีตัวเลขเรตติ้งสวยๆ)

ต่อไปนี้ ในฐานะประชาชนผู้เสพข่าวสารและผู้ส่งข่าวสาร เราต้อง "คัดกรอง" ข่าวสารด้วยตัวเอง ก่อนที่จะ "ส่งต่อ" ข่าวใดๆ ใช้วิจารณญาณเยอะๆ ในการอ่าน เช็ค และตรวจสอบข่าว 

รู้เท่าทันคนอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เท่าทันข่าว (ทางสื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะ social network) ด้วย

....คิดก่อนคลิก....