Wednesday, November 21, 2012

Facebook...คิดก่อนคลิก (likes and shares)

ยอมรับกันตรงๆ ว่าทุกวันนี้สิงอยู่ใน Facebook ทุกครั้งที่มีโอกาส เฝ้ารอคนมากดไลค์ตลอดเวลาหลังโพสต์อะไรลงไป ถ้าไม่มีก็จะอ่านทุกอย่างที่ปรากฏบนหน้า Newsfeed กดไลค์บ้าง แชร์บ้าง

เรียกว่าเสพติด Facebook คงได้

หลายคนคงเคยเจอภาพน่าประทับใจ (หรือโดนใจ) ต่างๆ ที่เพจทั้งกลุ่มทั่วไปและธุรกิจโพสต์ แล้วก็มีคนแชร์ต่อๆ กันมา แล้วก็อยากจะกดแชร์ต่อๆ กันไปให้เพื่อน

แต่ก่อนจะกดแชร์ คิดสักนิด

ทุกไลค์ ทุกแชร์ ของเพจเหล่านี้ คือกลไกทางการตลาด
ภาพบางภาพที่โพสต์จะกดไลค์หรือแชร์ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่บางภาพมันก็ไม่ควร และเราในฐานะผู้ใช้ Facebook ก็ควรมีวิจารณญาณในการกดด้วยเช่นกัน

นานๆ ทีจะพบภาพทารกแรกเกิดที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ซึ่งมาพร้อมข้อความว่าถ้ากดไลค์หรือแชร์ "Facebook" จะบริจาค 1 like 1 dollar หรืออะไรทำนองนี้ ถ้าไม่กดคงเป็นคนที่ใจร้ายมากๆ

แต่มันเป็น scam เป็นเรื่องหลอกลวง

เว็บไซต์ hoax-slayer (http://www.hoax-slayer.com/ectobia-cordis-sick-baby-hoax.shtml) ซึ่งเป็นเว็บที่วิเคราะห์ forward mail หรือข่าวสารข้อมูล หรือภาพที่ส่งต่อกันที่เรียกว่า viral เปิดเผยว่า ภาพเด็กทารกที่หัวใจอยู่นอกร่างกายที่ถูกแชร์กันทางเฟสบุ๊ค ที่อ้างว่าทุกๆ 1 ไลค์ (หรือแชร์) Facebook จะบริจาค 1 เหรียญ (และภาพเด็กที่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่แพร่กระจายด้วยวิธีเดียวกันนี้) นั้น เป็นเรื่องหลอกลวง เพราะ "Facebook will certainly not donate money to help the pictured child in exchange for liking or sharing" เฟสบุ๊คไม่ได้บริจาคอย่างที่เพจเจ้าของโพสต์อ้างอย่างแน่นอน และข้อความใดที่มีการกล่าวอ้างแบบนี้ก็เป็นเรื่องโกหกหลอกลวงทั้งสิ้น

ภาพเหล่านี้ เป็นภาพที่ถูกขโมยมาและนำมาใช้ (โพสต์) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากครอบครัวหรือพ่อแม่เด็ก หรือบางครั้งก็ขโมยมาจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อจุดประสงค์อันชั่วร้ายของคนโพสต์

ถามว่าแล้วคนโพสต์ได้อะไร


โพสต์ประเภทนี้เรียกว่า “baby charity scams”

คนร้ายจะขโมยภาพถ่ายทารกที่ป่วยหนักหรือเด็กที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ นานา แล้วก็สร้างข้อมูลลวงว่าเป็นโพสต์เพื่อการกุศลบนเพจของตน ยิ่งไลค์และแชร์เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้เหมือนมีคนเข้าหรือ รู้จักเพจมากขึ้น (ซึ่งอาจเป็นเพจที่อุปโลกขึ้นมาเฉยๆ ก็ได้) และทำให้มีจำนวนผู้เป็นสมาชิกเพจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยิ่งถ้าใครหลงกลไปคอมเม้นต์ ก็จะเปิดโอกาสให้เจ้าของเพจที่เป็นคนไม่ดีเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้

ภาพที่ถูกขโมยมาเหล่านี้ บางภาพเป็นภาพเก่า เด็กที่น่าสงสารเหล่านี้บางคนก็เสียชีวิตแล้ว คุณคิดว่าพ่อแม่หรือญาติของเด็กเหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรที่ได้เห็นภาพบุตรหลานที่เสียชีวิตอย่างน่าสลดใจไปแล้ว ถูกขโมยมาและนำมาเผยแพร่ส่งต่อกันทาง Facebook แบบนี้

Facebook ไม่ใช่เครื่องมือสร้างกุศล แต่เป็นเครื่องมือทำการตลาด

ข้อมูลจากเว็บ C2 Education (http://c2educate.tumblr.com/post/21721735958/so-you-think-you-know-baby-charity-scams) อธิบายว่า จำนวนไลค์และแชร์ (และความเคลื่อนไหวอื่นๆ ผ่าน    โซเชียลมีเดียทั้งหลาย ทั้งทวิตเตอร์ กูเกิ้ลพลัส ฯลฯ ) ทำให้ search engines รู้ว่าเว็บไหนเป็นที่สนใจหรือมีคุณค่าสำหรับ users และเมื่อ keyword ถูกค้นหา ก็จะเลือกลิงค์นั้นขึ้นมาก่อน

สัญลักษณ์ทางโซเชียลอย่าง tweets likes และ +1’s ที่เราคิดว่าก็แค่กดหรือคลิก ที่จริงมีน้ำหนักมากสำหรับนักการตลาดในการจัดอันดับเว็บ แถมยังเป็นการนำ users เข้าสู่เว็บนั้นโดยตรงด้วย นอกจากนี้ ถ้าเว็บไม่มีคนเข้าหรือเข้าน้อย แบบนานๆ มาที (traffic) กลยุทธ์การออกแบบเว็บให้ปรากฏคำที่เป็น keyword ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อดึงความสนใจของ search engines ก็จะไร้ประโยชน์ทันที เพราะ users จะส่งลิงค์ไปให้เพื่อนต่อไปก็ต่อเมื่อเขาคิดว่าเพจนั้นดี ซึ่งตรงนี้คงเป็นเรื่องของเทคนิคการทำการตลาดออน ไลน์ไปแล้ว คงไม่พูดถึงต่อล่ะ

กลับมาที่เรื่องหลอกลวงบน Facebook กันต่อ

เมื่อรู้แล้วว่าเป็นเรื่องไม่ดี ผิดศีลธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและครอบครัวของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อมารสังคม ต่อไปหากเห็นภาพและการกล่าวอ้างในทำนอง 1 like 1 share 1$ อีก ก็อย่าไปเผลอกดคลิก ยิ่งสงสารยิ่งต้องไม่กด และรายงานหรือ report เฟสบุ๊คด้วยก็จะยิ่งดี

http://www.snopes.com/inboxer/medical/cancerbaby.asp
เป็นลิงค์ที่บอกเล่าเกี่ยวกับกรณีเด็กหลายรายที่ถูกขโมยภาพมาเป็นเหยื่อ “baby charity scams” ลองเข้าไปดูกัน

ทุกวันนี้ เราอยู่กับอินเทอร์เน็ตและ Facebook จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า ข่าวสารที่่ผ่านเข้ามาทางหน้าจอมันมีทั้งจริงและเท็จ มันไม่ได้ ผ่านการกรอง เหมือนข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ (ที่บางทีก็เอาข่าวจากอินเทอร์เน็ตมาออกเหมือนกัน และที่ร้ายกว่านั้น บางทีก็ลืมไปว่าตัวเองเป็น "สื่อ" และมีหน้าที่ "คัดกรอง" ข่าวสาร เพื่อนำเสนอ "ข้อเท็จจริง" ต่อประชาชน ไม่ใช่นำเสนอ "ข่าวในกระแส" เพราะกลัวไม่ทันสมัยและไม่มีตัวเลขเรตติ้งสวยๆ)

ต่อไปนี้ ในฐานะประชาชนผู้เสพข่าวสารและผู้ส่งข่าวสาร เราต้อง "คัดกรอง" ข่าวสารด้วยตัวเอง ก่อนที่จะ "ส่งต่อ" ข่าวใดๆ ใช้วิจารณญาณเยอะๆ ในการอ่าน เช็ค และตรวจสอบข่าว 

รู้เท่าทันคนอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เท่าทันข่าว (ทางสื่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะ social network) ด้วย

....คิดก่อนคลิก....

Wednesday, August 15, 2012

เกรดนั้นสำคัญไฉน

     ที่มาของบล็อกนี้เกิดจากการได้เห็นภาพที่แชร์กันในเฟสบุ๊ค มีข้อความว่า "นักเรียนสมัยนี้เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ หรือมีเกรดสวยๆ ไปสมัครงาน" ในฐานะที่เป็นอาจารย์...เป็นครู จึงอยากเตือนสตินักเรียนนักศึกษา
     ต้องบอกก่อนว่าผู้เขียนเอง ก่อนจะมาเป็นครูอาจารย์ ก็เคยทำงานวิชาชีพมาก่อน เคยสัมภาษณ์รับพนักงานใหม่เองก็หลายรอบ เห็นความสำคัญของการ "ทำงานเป็น" ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร แต่ถามว่าตัวหน้งสือไม่กี่ตัวอักษรนั้น บ่งบอก "คุณภาพ" และ "ความสามารถ" ของคนได้หรือไม่ คำตอบที่มั่นใจเกินร้อยคือ "ได้" แต่มันไม่ใช่ปัจจัย "ทั้งหมด" ที่ใช้ในการ "ตัดสิน" คนและคัดเลือกคนเข้าทำงาน
     เกรดบอกอะไร
     เวลาสัมภาษณ์งาน ขอดูเกรดก่อนเลย มองฟื้บไป เจอ 1 หรือ 2 จุดต้นๆ คำถามแรกเลยคือ ทำไมเรียนได้แค่นี้...เพราะว่าผลการเรียนเป็นตัวบอกว่า คุณมี "ภูมิ" แค่ไหน "ภูมิ" ในที่นี้ ก็คือ ภูมิความรู้ คุณจะมาประกอบวิชาชีพ แต่ไม่มีภูมิความรู้หรือมีน้อยนิดนี่ ก็ไม่ไหวนะ ผู้จ้างเขาต้องเสียเวลามาฝึกมาสอนงาน ยิ่งที่ทำงานในสาขาที่ต้องปฏิบัติเลย เช่น วิทยุโทรทัศน์ ไม่เอาแน่นอน เสียเวลา ยิ่งได้เกรดน้อยๆ ในสาขาวิชาที่ไปสมัครงานนี่ จบเลย (เว้นแต่บริษัทที่ยอมเสียเวลาฝึก ก็รับแต่กดงดเดือน) อย่างจะไปเป็นครูสอนภาษาไทย แต่วิชาเขียนไทย ไวยากรณ์ภาษาไทยนี่ได้ D บ้าง C บ้าง...แปลว่าอะไร แปลว่าขนาดวิชาที่คุณต้องเอาไปใช้ทำมาหากินคุณยัง "ไม่เอา" หรือ "ทำได้แค่นี้" แปลว่าคุณเป็นคนประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า ignorant คือไม่สนใจไม่ "เอา" อะไรเลย และคงมีทัศนคติที่ไม่ดีกับวิชานี้ แล้วคุณจะไปสอนให้คนอื่นเรียนวิชานี้ให้ดีให้แตกฉานได้อย่างไร
     บางคนเถียง แล้ววิชาชีพล่ะ อย่างโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ มันต้องการ "ฝีมือ" และ "ประสบการณ์" มากกว่าความรู้ทางทฤษฎีนะ...ก็ใช่หรอก แต่ เกรด ก็ยังเป็นตัวที่บอก "ความเป็นคุณ" ได้อยู่นั่นเอง ถ้าคุณเกรดไม่ดี...มันบอก
     1. ความรู้พื้นฐานไม่แน่น ก่อนผลิตต้องทำอะไร ต้องระมัดระวังเรื่องอะไร การเล่าเรื่องผ่านภาพและเสียงมีเทคนิคอะไร...พอตรงนี้ไม่แน่น การนำไปใช้ก็ต้องพึ่งพาการลองถูกลองผิดอย่างเดียว สอนไปจะจำได้มั้ยเนี่ย (คนรับเข้าทำงาน) ชักเริ่มเสียว
     2. คุณเป็นคนไม่รับผิดชอบ เวลาเรียนไม่เรียน เวลาสอบไม่อ่านหนังสือ เป็นพวก "แนว" พวก "ศิลปิน" อันนี้บอกว่าคุณจะควบคุมได้ยาก สอนยาก ไม่มีใครอยากจ้างคนหัวดื้อ ego สูง (ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรดีจริงในงานวิชาชีพ เพราะเป็นเด็กจบใหม่) ไปทำงานด้วยหรอก
     3. ถ้าคุณตอบว่าคุณเกรดไม่ดีเพราะทำกิจกรรมเยอะ แปลว่าคุณแบ่งเวลาไม่เป็นแล้วมาทำงานจะแบ่งเวลาเป็นมั้ย


     ผู้เขียนเคยเจอนะ ลูฏศิษย์บางคนทำงานดีแต่สอบทฤษฎีตกเพราะไม่สนใจเรียน คิดว่าทฤษฎีไม่มีความสำคัญ ที่่ว่า "งานดี" หมายความว่าดีกว่าที่ผู้สอนคาดหวังไว้ แต่ก็ยังมีส่วนที่ "ถ้าเขามีความรู้ทฤษฎี ที่ "แน่น" กว่านี้ งานของเขาคงจะอยู่ในระดับ "มืออาชีพ" ได้เลยทีเดียว"...เสียดายไหมล่ะ
     ลองคิดดูอีกทีสิว่าเขาจะไปได้ไกลขนาดไหนถ้าความรู้ทฤษฎีเขา "แน่น" จนสามารถหยิบมาใช้ได้ถูกที่ถูกเวลาทุกครั้ง
     บางครั้ง การเรียนจากการลงมือทำตอนที่มีคนรับเข้าทำงานแล้ว ก็ต้องเสียเวลาทำงาน เสียงานที่ควรจะออกมาดีตั้งแต่ครั้งแรก บางครั้งโดนด่าจนหมดกำลังใจไปก็มี
     ข้อเสียอีกอย่างของนักศึกษาที่ผ่านการทำผลงานเยอะๆ ก็คือ มักจะคิดว่าตัวเอง "เก่ง" แล้ว ทำ "เป็น" แล้ว ซึ่งก็อาจเป็นสาเหตุของการทำให้ไม่ตั้งใจเรียน เพราะคิดว่ายังไงเราก็ทำ "เป็น" และ "ดี"
     แต่หารู้ไม่ว่า คุณก็เก่งเฉพาะในกะลา...ในโลกแคบๆ ในวงเพื่อนฝูง...ก็เท่านั้น คุณเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก แต่คุณก็ไม่รู้หรอกว่าอันไหนผิดหรือถูก เพราะบางทีก็คิดเองเออเอง (ส่วนบางทีที่เหลือก็คือไปค้นหาเอาจากอินเทอร์เน็ต) บางทีคิดว่าทำถูก แต่ถูกแบบผิดๆ ก็เหมือนกับนักศึกษาเวลาถูกสั่งให้จัดงาน event โดยไม่มีคนชี้แนะแนวทางให้ ก็เดากันไป ทำกันไป ผิดก็แก้ให้มันผ่านๆ พ้นๆ ไป สุดท้ายก็ได้ความรูู้เรื่องการจัด event ไปแบบผิดๆ แต่ก็เอาไปพูดแล้วว่า "หนูเคยจัดงาน event"

     สรุปก็คือ การเรียนในห้องเรียน มันมีส่วนช่วยชีวิตการทำงานของคุณได้ และจะช่วยได้มาก ถ้าคุณรู้จักนำเอาความรู้ที่เรียนไปใช้ ถ้าเรียนแล้วลืมไม่นำไปใช้ก็เหมือนไม่ได้เรียนนั่นแหละ ดังนั้น ไม่ว่า "เกรด" จะเป็นตัวช่วยหรือตัวตัดสินอนาคตการทำงานของคุณหรือไม่ แต่สิ่งท่ี่คุณได้จากการเรียนหนังสือนั้น ก็อยู่กับตัวคุณ เป็นประโยชน์กับตัวคุณไปตลอดชีวิต (ถ้าคุณไม่โยนทิ้งเสียก่อน)
     วันนี้คุณไม่รู้หรอก แต่วันหนึ่งข้างหน้า ผู้เขียนหวังว่าคุณจะนึกได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่คุณ "เรียนรู้จากการทำงาน" ส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนคุณมาแล้วทั้งนั้นแหละ แต่ความรู้จากปากครูมันมัก "ไร้สาระ" ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับสิ่งที่ "พี่ที่ที่ทำงาน" พูด หรือไม่คุณก็ทิ้งมันไปทันทีที่สอบ final เสร็จในแต่ละวิชา
     แต่หากมีวันใดที่คุณนึกได้ ว่าสิ่งที่เรียนไปนั้นไม่ได้ "ไร้ประโยชน์" และ "รู้งี้น่าจะตั้งใจเรียน" วันนั้นก็สายไปแล้ว ย้อนเวลาไม่ไได้และเกรดที่ได้มามันจะติดอยู่ใน transcript เป็นตราบาปของคุณไปตลอดชีวิตการทำงาน (และการศึกษาต่อ)
    "เกรด"...เป็นมากกว่าตัวอักษรภาษาอังกฤษ และ/หรือ ตัวเลข

Friday, June 15, 2012

วีเจ...ไม่ง่าย

วีเจ...ไม่ง่า


     วีเจ เป็นคำที่ใช้เรียกพิธีกรและผู้ดำเนินรายการ ส่วนใหญ่เป็นรายการบันเทิงทางช่องเพลง หรือรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับเพลง  ส่วนใหญ่เรามักพบวีเจ พูดเข้าเพลง คือบอกข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับมิวสิกวิดีโอเพลงที่กำลังจะเสนอ และ/หรือข้อมูลข่าวสารของช่องหรือรายการที่จัดอยู่  สมัยที่ผู้เขียนยังอยู่ในวงการ รู้สึกว่า วีเจ จะเป็นอาชีพที่วัยรุ่นยุคนี้อยากจะเป็นกันซะเหลือเกิน แต่จริงๆ แล้ว อาชีพวีเจมีมานานเป็นสิบปีแล้วนะคะหนู สมัยก่อนคำว่า วีเจ หรือ VJ คือ Video Jockey หมายถึงคนเปิดมิวสิควิดีโอทางโทรทัศน์ (ก็วิทยุยังมี ดีเจหรือ DJ ที่ย่อมาจาก disc jockey ซึ่งหมายถึงคนที่เปิดแผ่นเสียงทางวิทยุ (ปัจจุบันเปิดจากไฟล์ไปแล้ว แต่ก็ยังเรียกกันว่า DJ) ได้เลย)

กำเนิดอาชีพ วีเจ

 

     Wikipedia บอกว่าที่มาของวีเจ มีจุดเริ่มต้นจากไนท์คลับชื่อ ฮูราห์ (Hurrah) ในนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ไนท์คลับแห่งนี้เชิญ เมอร์ริลล์ อัลดิเกรี่ ให้นำหนังทดลอง (experimental film) มาฉายให้คนในคลับดู หนังทดลองที่ว่านี้ก็คือการฉายภาพวิดีโอ พร้อมๆ กับที่ดีเจเปิดแผ่นไปด้วย จะได้ไม่ขัดใจคนมาเที่ยวคลับ ด้วยเหตุนี้เอง ฮูราห์ ก็เลยเป็นสถานที่สาธารณะแห่งแรกในนิวเยอร์คที่ฉายวิดีโอประกอบกับดนตรี

                อันที่จริงในยุค 80s ยังไม่มีสิ่งที่เรียกกันว่า มิวสิกวิดีโอ แต่อย่างใด การเป็น วิดีโอ จ็อคกี้ หรือ “วีเจ” ของเมอร์ริล คือการถ่ายคลิปวิดีโอสดๆ ร่วมกับการฉายภาพจากแผ่นฟิล์มที่เปิดวนไปเรื่อยๆ มีการตัดสลับภาพระหว่างเครื่องเล่นวิดีโอ (สมัยนั้นใช้ระบบยูเมติก 2 เครื่อง) ประกอบกับการเล่นสดของวงดนตรี
          มิวสิควิดีโอ และ วีเจ เริ่มเป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในหมู่วัยรุ่นเมื่อโทรทัศน์ช่องเอ็มทีวี (MTV – Music Television) เกิดขึ้นในยุค 80s (ถ้าจำไม่ผิดคือปี 1984) จนในที่สุดอาชีพ วีเจ ก็ไม่ใช่แค่ คนพูดเข้าเพลง แต่ยังเป็นคนดัง ดาวเด่น หรือแม้กระทั่ง ผู้สื่อข่าวดนตรี ที่จัดรายการของตัวเองในช่องอีกด้วย
    เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ เมื่ออะไรดังก็มักจะเกิดสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นมามากมาย ดังนั้น เมื่อ เอ็มทีวี บูม ช่องเพลงที่มีกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เหมือนและแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ยุโรป และ เอเชีย อย่างช่อง Zik (เล่นเพลงแร็พ R&B) ของฝรั่งเศส ช่อง Channel [V] ที่เกิดมาเพื่อแข่งกับ MTV  โดยเฉพาะ  หรือ CMC ช่องเพลงคันทรี่ในอเมริกา บางช่องมีวีเจ บางช่องก็ไม่มี แต่คำว่า วีเจ กลายเป็นชื่อเรียกพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการของช่องต่างๆ เหล่านี้ไปเสียแล้ว แม้ว่าหลายช่องจะพยายามหาคำมาเรียกพิธีกรเพลงในช่องของตนโดยเฉพาะ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะลบคำว่า วีเจ ออกไปไม่ได้ ทำให้ วีเจ กลายเป็นคำเรียกผู้ดำเนินรายการทางช่องเพลง เหมือนใช้คำว่า แฟ้บ เพื่อเรียกผงซักฟอก และคำว่าซีร็อกซ์แทนคำว่าถ่ายเอกสารนั่นเลย มันก็เลยยิ่งทำให้อาชีพ วีเจ กลายเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นที่รักเสียงเพลงมากขึ้นไปอีกเจ้าของช่องเพลงก็มักใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางสร้างกิจกรรมทางการตลาดให้กับตัวเองด้วยการจัดให้มีกิจกรรมเสาะหา วีเจ หน้าใหม่ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแต่ละช่องจะตั้งชื่อกิจกรรมกันไป

ทำไมวัยรุ่นถึงอยากเป็น วีเจ

 

           วีเจ นั้น เท่ เพราะเขาหรือเธอ คือกูรูด้านดนตรี (นอกเหนือไปจากความจริงที่ว่าเขาหรือเธอเป็นคนหน้าตาดีและได้ออกทีวี) แต่งตัวสวยงามมีสไตล์...คือ เพื่อน ที่นำข่าวคราวในแวดวงดนตรีมาบอก มาเปิดมิวสิกวิดีโอ (ที่เรามักได้ยินเรียกกันสั้นๆ ว่า มิวสิกฯหรือ เอ็มวี) เพลงใหม่ๆ ให้ได้ดู วีเจ จึงมีภาพลักษณ์ของคนที่รู้จักเพลงเยอะและ ทันสมัย อยู่เสมอ ทำให้คนที่เป็นวีเจ กลายเป็นไอดอล (Idol) ของวัยรุ่นไปโดยปริยาย
     ที่สำคัญก็คือ คนธรรมดาๆ ก็มีโอกาสแจ้งเกิดเป็นวีเจได้ (แน่นอนว่าผ่านทางกิจกรรมเสาะหาวีเจของเหล่าช่องเพลงนั่นเอง) นอกเหนือจากการเป็นคนหน้าตาดีและมีโมเดลลิ่งคอยหางานให้ ซึ่งก็นับว่าน่าสนใจและดูจะเป็นได้ง่ายกว่าการเข้าไปทำอาชีพอื่นๆ ในวงการมายา ยิ่งสมัยนี้ ความที่เป็นเพลงวัยรุ่นเพื่อวัยรุ่น แถมยังเป็นยุคที่เปิดโอกาสให้หน้าตาพอดูได้ แต่พูดเก่งและมีสไตล์เป็นของตัวเองได้เสนอ (ใบ) หน้าทางจอโทรทัศน์ได้มากขึ้นด้วยแล้ว ทำให้การตบเท้าเข้าไปเป็นวีเจ ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเฉพาะคนหน้าตาดีอีกต่อไป         
          นอกจากนี้ การเป็น วีเจ โดยเฉพาะรายการหรือช่องที่เปิดเพลงต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสากลหรือเอเชีย ยังหมายถึงการได้ โกอินเตอร์ อีกด้วย และการได้ โกอินเตอร์ นี่เอง ที่เป็น ความเท่ อีกอย่างหนึ่ง เพราะวีเจจะได้สัมผัสกับศิลปินต่างชาติดังๆ ได้เดินทางไปต่างประเทศ (แม้จะไม่เสมอไป แต่ก็มีโอกาสมากกว่าการเป็นวัยรุ่นธรรมดา) แถมไปฟรีอีกต่างหาก พูดถึงของฟรีก็ต้องพูดถึงการได้ดูคอนเสิร์ตฟรี ได้ซีดีเพลงฟรี หรือถ้ารายการมีสปอนเซอร์มือเติบ ก็อาจผลิตภัณฑ์สินค้าของสปอนเซอร์มาใช้ฟรีๆ อีกด้วย
        นอกจากจะดูเข้าง่ายกว่าอาชีพในวงการบังเทิงอื่นๆ แล้ว การเป็นวีเจยังเป็นสะพานทอดไปสู่วงการบันเทิงในสาขาอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรบนเวทีในงานต่างๆ  การได้เข้าไปเล่นเกมโชว์ เป็นนางเอกพระเอกมิวสิกวิดีโอ เล่นละคร แสดงภาพยนตร์ เป็นนักจัดรายการวิทยุ นายแบบ นางแบบ พรีเซ็นเตอร์โฆษณา แต่ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหนก็คงต้องอาศัยความดังและเสน่ห์ของตัววีเจเอง
        น่าเป็นซะขนาดนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการเป็น “วีเจที่ดี” จะเป็นกันได้ง่ายๆ เรามักพูดกันเรื่องหน้าตา สไตล์ สเน่ห์ ของวีเจ แต่น้อยคนนักที่จะคำนึงถึงคำว่า “คุณภาพ” ซึ่งความจริงแล้ว เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้รายการและตัววีเจเองน่าเชื่อถือ และ “น่ารัก”  

วีเจที่ดี

      แค่พูดเข้าเพลง ใครๆก็ทำได้ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แค่นั้น คนชอบคิดว่าวีเจ คือวัยรุ่นหรือวัยยี่สิบต้นๆ มีการพูดดำเนินรายการด้วยภาษาและท่าทางแบบวัยรุ่น ดูสบายๆ เป็นกันเอง เพราะจัดรายการให้วัยรุ่นดู แต่ก็ไม่ควรลืมว่า วีเจ คือ “สื่อมวลชน” และยังเป็นตัวอย่างของเยาวชนด้วย เพราะวีเจสามารถเข้าถึงคนดูที่เป็นวัยรุ่นหรือเยาวชนได้ดีกว่าพิธีกรตามรายการโทรทัศน์อื่นๆ การจะเป็นวีเจจึงควรต้องตระหนักในหน้าที่ทางสังคมในฐานะ “สื่อมวลชน” ด้วย (เขียนไปก็รู้สึกว่าตัวเองแก่ แต่ก็ยังคิดว่าจำเป็นอยู่ดี – ยอมแก่ถ้าจะทำให้มีวีเจดีๆ เพิ่มขึ้นได้)

การเป็นวีเจที่ดี

        เมื่อวีเจคือพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการ หลักการส่วนใหญ่จึงเหมือนกับการเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ทั่วๆไป แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้างตามข้อสังเกตที่ได้จากประสบการณ์ของผู้เขียน ดังนี้

1.       การไหว้
     ไม่ว่ารายการเพลงนั้นๆ จะเปิดหรือเล่นแต่มิวสิควิดีโอเพลงไทยอย่างเดียว หรือสากลอย่างเดียว หรือผสมกันไป แต่ถ้าเป็นรายการที่ทำให้คนไทยดู ก็ต้องเปิดรายการด้วยการ ไหว้ ที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ พร้อมกล่าวคำสวัสดี การไหว้ ถือเป็นการบ่งบอกความตัวตนของวีเจด้วย วีเจทุกคน จึงควรต้องฝึกการไหว้ให้สวยงาม และต้องไหว้อย่างตั้งใจด้วย วีเจบางคนยกมือไหว้ อย่างที่เราเรียกว่า ไหว้แบบ ส.ส. หรือพนมมือยกขึ้นมาที่หน้าผากโดยไม่มีการก้ม  ในขณะที่ วีเจบางคนไหว้แบบพอเป็นพิธี เช่น ก้มและเงยอย่างรวดเร็วจนเกินไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว วีเจรุ่นใหม่หลายคนเห็นว่าการไหว้เป็นเรื่องทางการ ไม่เข้ากับรายการสำหรับวัยรุ่น ซึ่งเป็นค่านิยมที่ทางช่องรายการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรปรับเสียใหม่ การรักษาขนบประเพณีไม่ใช่เรื่องเชย และยิ่งไม่ใช่เรื่องน่าอาย เมื่อไหว้เสร็จแล้ว จะใช้ลูกเล่นทันสมัยหรือ แนว ยังไงก็ทำไป ไม่มีใครว่า ไหว้ให้สวยแล้วกัน วีเจที่ไหว้สวย ผู้ใหญ่ก็ชื่นชมเอ็นดู เด็กหรือเพื่อนก็อยากทำตาม นอกจากนี้ สิ่งที่พึงระวังโดยเฉพาะวีเจที่เป็นผู้หญิงก็คือ ผม วีเจที่ผมยาวหรือปล่อยผม เมื่อก้มลงไหว้แล้วมักเงยหน้าและสะบัดผมที่หล่นลงมาปรกหน้าออกไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทำให้ดูแล้วไม่สวยงาม ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทั้งวีเจและโปรดิวเซอร์รายการที่จะต้องช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วย 

2.       การพูดอักขระที่ชัดเจน
     เป็นพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการอะไรก็ตาม หลักสากลโลกและสากลประเทศไทยก็คือการออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ทั้งร.เรือ ล.ลิง และคำควบกล้ำทุกคำต้องพูดให้ชัด เพราะมันมีส่วนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเราเองได้ คำยาก ชื่อเฉพาะ ก็ต้องอ่านให้ถูก ให้เกียรติเจ้าของชื่อบ้าง คำภาษาต่างประเทศ ไม่ต้องดัดจริตก็ได้ แต่ออกเสียงให้ถูกให้ชัดตามเจ้าของภาษา (โปรดิวเซอร์ช่วยทำการบ้านด้วย คุณต้องรู้ว่าชื่อภาษาต่างด้าวที่นำมาให้วีเจพูดนั้น อ่านว่าอย่างไร)
       ขอแก่อีกที – ได้โปรดพึงระลึกไว้ว่า วีเจ เป็นผู้ สื่อ สาร ที่จะไปยังเยาวชนและคนรุ่นใหม่ คุณสามารถช่วยรักษาวัฒนธรรมทางภาษา (ไม่ให้วิบัติไปมากกว่านี้) You got the power คุณมีอำนาจในมือ – ทำเถิด ถ้ามันยากก็หัด ซ้อม พูดบ่อยๆ พูดในชีวิตประจำวันนั่นแหละ เอาให้ติดเป็นนิสัย เวลาจัดรายการจะได้ไม่ต้องกังวลมาก  พูดชัดออกเสียงถูกต้อง ดูและฟังแล้วก็รื่นหูดี

3.       การแสดงสีหน้าและแววตา
       ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เพราะว่าแววตา สามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดได้เป็นอย่างดี การจัดรายการให้ดูสนุกและไม่น่าเบื่อ วีเจ ต้องมีสีหน้าและน้ำเสียงที่สื่อเช่นนั้นด้วย และความรู้สึกสนุกสนาน มีพลังนี้ ก็แสดงออกมาทางแววตาและสีหน้านี่เอง เมื่อวีเจ ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้สึกสนุกกับงานของตน คนดูก็จะสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกนั้นได้ด้วยเช่นกัน และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ผู้เขียนเชื่อว่าการให้วีเจท่องบทดีกว่าการอ่านสคริปต์จากหน้าจอ (ที่เรียก teleprompter) เพราะเมื่อเราอ่าน ตาจะดู แข็ง เพราะต้องใช้สมาธิในการอ่านบทจากจอ ทำให้การแสดงสีหน้าและแววตาไม่ไปตามเนื้อหาที่พูด
    สคริปต์หรือบทสำหรับวีเจ จึงมักเขียนเพื่อเป็นแนวทาง (guideline) ในการพูด มากกว่าจะบังคับให้พูดตามบทแบบคำต่อคำ เพราะเราต้องการให้วีเจทำความเข้าใจกับบท จับประเด็นให้ได้ (นี่ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่วีเจและผู้ดำเนินรายการทั่วไปต้องมี) แล้วพูดถ่ายทอดออกมาด้วยสไตล์การพูดการแสดงออกของตนเอง ซึ่งจะทำให้การจัดรายการดูเป็นธรรมชาติมากกว่า

4.       การฝึก ภาษากาย
    การเป็นวีเจรายการที่เปิดแต่มิวสิกวิดีโอไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนอาจคิด โดยเฉพาะเมื่อรายการนั้นใช้วิธีถ่ายแบบโครมาคีย์ (Chroma Key) หรือที่รู้จักกันว่า บลูสกรีน (Blue Screen) หรือ กรีนสกรีน (Green Screen) ซึ่งก็คือการถ่ายวีเจบนฉากสีฟ้าหรือสีเขียว (วิธีการเดียวกับข่าวพยากรณ์อากาศ) จากนั้นก็ใช้คอมพิวเตอร์สกัดสีฟ้าหรือเขียวออกไป แล้วใส่กราฟิกเข้าไปเป็นฉากหลังแทน รายการโครมาคีย์ยากกว่ารายการที่เป็นฉากเพราะว่าวีเจต้องยืนพูดอยู่หน้ากล้อง โดยไม่มี ตัวช่วย คือ พร็อพ ให้หยิบจับ ทำให้วีเจต้องเรียนรู้ที่จะแสดงลักษณะท่าทางต่างๆ เพื่อประกอบการพูดด้วย
                ประเด็นสำคัญของการเป็นวีเจช่องเพลงก็คือ การเป็นพิธีกรที่ แตกต่าง และ เท่ ในสายตาของวัยรุ่น การยืนประสานมือไว้ที่ระดับเอว โดยมีการแยกมือออกบ้างเป็นระยะๆ ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สอนและอบรมกันมา แต่เมื่อมาใช้ในช่องเพลงวัยรุ่น บางครั้งก็กลับทำให้ดู แข็ง หรือเป็นทางการเกินไป วีเจบางคนทำท่าทางเหล่านี้วนไปวนมาตลอดทั้งรายการก็มีเพราะไม่รู้จะเอามือไปไว้ที่ไหน ดังนั้น วีเจที่ดีจึงควรฝึกฝนสิ่งเหล่านี้จากการศึกษาพิธีกรรายการอื่นๆ งไทยและต่างประเทศ แล้วนำสิ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับการเป็นวีเจได้ปรับใช้อย่างเหมาะสม หรือการฝึกจัดรายการหน้ากระจกหรือจัดให้คนอื่นดูก็ช่วยได้มาก แต่วิธีที่จะช่วยให้วีเจเห็นตัวเองได้ดีที่สุดก็คือ การดูเทปรายการที่ตัวเองจัด เพื่อจะได้เห็นข้อบกพร่อง เช่น เราทำท่าไหนบ่อยเกินไป และยังเป็นการศึกษารายการของตนเองอีกด้วย
     นอกจากนี้ การศึกษาจากวีเจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ (เนื่องจากวีเจรายการในไทยแม้ว่าจะโด่งดังมีชื่อเสียง ก็อาจไม่ได้เป็นเพราะความเป็น วีเจที่ดี แต่มีชื่อเสียงเพราะว่าได้ทำอย่างอื่น เช่น เล่นละคร) ผู้เขียนเคยทำงานกับวีเจคนหนึ่ง เธอเข้าสู่อาชีพวีเจจากกิจกรรม ค้นหาวีเจ เมื่อทำงานด้วยกันครั้งแรก รู้สึกว่าเธอยังแสดงท่าทางไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่าไหร่นักเพราะยังใหม่อยู่ แต่เมื่อเจอกันครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ผู้เขียนทั้งประหลาดใจและประทับใจในตัววีเจสาวคนนี้เป็นอย่างมาก เพราะเธอมีความก้าวหน้าและพัฒนาการเรื่อยไปทุกครั้ง จนการจัดรายการของเธอดูเป็นธรรมชาติและเพลิดเพลินมาก เธอบอกว่าหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจประจำวัน เธอจะกลับไปดูรายการที่ตัวเองจัดที่บ้าน โดยมีคุณแม่นั่งดูอยู่ด้วย ดังนั้นเธอจึงได้เห็นตัวเองตอนจัดรายการ โดยมีคุณแม่ช่วยให้ความเห็น และได้นำข้อผิดพลาดไปปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เธอไม่ได้โด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศเหมือนวีเจสาวจากช่องอื่นๆ เพราะเธอไม่ได้เล่นละคร หรือถ่ายแบบ แต่สำหรับผู้เขียน เธอคือ วีเจที่ดี และ เก่ง ด้วย มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็น วีเจ ทั้งในหน้าที่และจิตใจ

5.       หมั่นทำการบ้านอยู่เสมอ
         วีเจที่ดี ต้อง รู้จัก สิ่งที่ตัวเองทำ ถ้าจัดรายการเพลง สิ่งที่วีเจที่ดีควรทำก็คือ ฟังเพลง ดูมิวสิกวิดีโอ ศึกษาข้อมูลวงการเพลง และติดตามข่าวคราวศิลปิน เพื่อที่จะได้มีความเข้าใจในสคริปต์ และรู้ว่าตัวเองพูดอะไรออกไปบ้างในขณะจัดรายการ อย่าลืมว่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ ถ้าคุณรู้ และเข้าใจในสิ่งที่พูด มันจะแสดงออกมาทั้งทางสีหน้า แววตา และน้ำเสียง และนั่นทำให้คุณได้รับความเชื่อถือ และแสดงถึงความ ฉลาด ของคุณ นอกจากนี้ ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่เพลงประเภทใดประเภทหนึ่ง อาจไม่ต้องรู้ลึกทุกด้าน หรืออาจเลือกรู้เยอะๆ เฉพาะแนวเพลงที่สนใจก็ได้ แต่ต้องรู้กว้างๆ เผื่อเพลงแนวอื่นๆ ไว้ด้วย เพราะเมื่อคุณทำช่องเพลง จัดรายการเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทย เอเชียน หรือสากล คนดูหรือผู้อื่นมักยกให้คุณเป็นผู้รู้ หรือ กูรู ด้านเพลง เขาจะถามคุณเรื่องเพลงโดยไม่เลือกถามเฉพาะที่คุณรู้ลึกๆ แต่เขาจะถามและคาดหวังคำตอบจากคุณ และ ถ้าคุณให้เขาไม่ได้ คุณก็ไม่ เจ๋งจริง นอกจากนี้ การ ทำการบ้าน อยู่เสมอ ทำให้วีเจ มีความรู้ เวลาพูด แม้ว่าจะมาจากการอ่านจากสคริปต์ที่มีคนเตรียมไว้ให้ แต่วีเจก็จะพูดออกมาอย่าง คนรู้จริง มากกว่าการอ่านทื่อๆ จากบทพูด แถมยังสามารถสอดแทรก ความรู้ นั้นลงไปในสคริปต์ได้ด้วยตัวเองอีกด้วย บางครั้ง วีเจที่ดี มีความรู้มากกว่าคนที่เตรียมสคริปต์หรือโปรดิวเซอร์เสียอีก  

6.       รู้จักสอดแทรกอารมณ์ขันอย่างเหมาะสม
       อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้อนรับ เมื่อใช้อย่างที่ถูกกาละและเทศะ และไม่เป็นการล่วงเกินใคร อารมณ์ขันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนอารมณ์ดีของวีเจ ความเป็นตัวของตัวเอง และยังช่วยทำให้รายการสนุกขึ้นอีกด้วย แต่ทั้งนี้ โปรดิวเซอร์คงต้องช่วยดูด้วยว่า มุก ที่วีเจใช้นั้น ไม่ แป้ก หรือไม่เชยเกินไป

7.       ฝึกการออกเสียง วิธีการพูด  
      การฝึกออกเสียงจะช่วยให้สามารถพูดนานๆ ได้โดยไม่เหนื่อยง่าย เวลาที่เราติดไมค์ เสียงหอบหายใจจะได้ยินอย่างชัดเจนมากกว่าตอนที่เราพูดคุยกันตามธรรมดา นอกจากนี้ ก็ต้องฝึกพูดให้เป็นจังหวะจะโคน ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป และต้องรู้จักใช้โทนเสียงเน้นย้ำหรือขึ้นลงให้เหมาะกับเนื้อหาที่พูดอยู่ การพูดด้วยโทนเสียงเดียวกันตลอด ทำให้รายการดูน่าเบื่อ คนดูหรือฟังแล้วไม่รู้ว่าตรงไหนคือส่วนที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ

8.       ยิ้มเข้าไว้
    เช่นเดียวกับการเป็นพิธีกรที่ดี ต้องรู้จักพูดไปยิ้มไป (แต่ก็ต้องดูเนื้อหาที่พูดด้วย ถ้าเนื้อหาเศร้า การยิ้มก็คงไม่เหมาะ) เมื่อวีเจรู้สึกสนุก ยิ้ม คนดูดูแล้วเพลินๆ ก็จะพลอยยิ้มตามไปด้วย

9.       อ่านสคริปต์และฝึกซ้อมก่อนถ่ายรายการหรือออกอากาศทุกครั้ง
     วีเจ (และพิธีกรรายการโทรทัศน์ทั้งหลาย) ควรที่จะอ่าน ทำความเข้าใจ และฝึกซ้อมพูดตามสคริปต์ก่อนเริ่มอัดรายการหรือออกอากาศสดจริงทุกครั้ง (จึงควรต้องมาถึงก่อนเวลานัด) นั่นคือคุณสมบัติที่วีเจหรือพิธีกรระดับแนวหน้าทำกัน การอ่านก่อนเช่นนี้จะทำให้รู้ล่วงหน้าว่า การออกเสียงตรงไหนที่เราติดขัด หรือในสคริปต์อาจเว้นวรรคตอนไม่ชัดเจน แม้ว่าบางรายการหรือสถานีโทรทัศน์บางแห่งจะมี พร็อมพ์เตอร์ (prompter) แต่ขณะถ่ายทำหรือออกอากาศ ถ้าวีเจไม่เคยเห็นสคริปต์มาก่อน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาติดขัด พูดไม่ถูก ลิ้นพันกัน หรือเว้นจังหวะไม่ถูกกลางอากาศได้ ผลก็คือต้องเสียเวลาถ่ายทำใหม่ ส่วนกรณีที่เป็นการออกอากาศสด ก็ต้องกระอักกระอ่วน แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอีก ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ ยิ่งถ่ายทำหลายเทคเข้า ก็ยิ่งล้า จากการจัดรายการที่สนุกสนาน พลังงานก็หมดไป กลายเป็นจัดอย่างเหนื่อยล้าแทน (ทีมงานก็เหนื่อย ผลก็คืองานที่ออกมาคุณภาพไม่ดีอย่างที่ควร) นอกจากนี้ ถ้ามีชื่อเฉพาะ การอ่านล่วงหน้าจะทำให้เรามีเวลาศึกษา สอบถามถึงวิธีการออกเสียงที่ถูกต้องอีกด้วย

10.    การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่วีเจทุกคนจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะวีเจที่จัดรายการสด เพราะรายการสด เราไม่สามารถเทค หรือถ่ายใหม่เพื่อทำการแก้ไขสิ่งที่พูดหรือทำผิดพลาดในรายการได้เหมือนรายการเทป สำหรับ วีเจ มีทางเลือกมากกว่าคนที่เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ค่อนข้างเป็นทางการ หรือ พิธีกรอ่านข่าว เพราะเมื่อวีเจพูดผิด อาจสามารถ ไหล ต่อไปได้ เช่นการทำเป็นตลกล้อความผิดพลาดของตัวเอง และดำเนินรายการต่อไปเหมือนการคุยแบบตัวต่อตัวที่ย่อมมีการพูดผิดบ้างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือหากพูดชื่อเพลงผิด หรือชื่อเพลงไม่ตรงกับเพลงที่เปิดจริง เมื่อกลับมาอีกช่วงหนึ่งก็ต้องแก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง โดยอาจมีโปรดิวเซอร์ช่วยเหลือในเรื่องวิธีการพูดว่าจะพูดอะไร และอย่างไร

11.    อ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อดังแล้วต้องไม่ลืมตัว
      การอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติของคนไทย ดังนั้น ควรรักษาไว้ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นก่อน รุ่นแรก รุ่นหลัง หรือรุ่นปัจจุบัน เมื่อวีเจเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไปที่ไหน ใครเห็นใครก็รัก ไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีงานเข้าเต็มมือ นับเงินไม่ไหวกันทีเดียว

      ก็ได้แต่หวังว่าเด็กรุ่นใหม่วัย “แนว” ที่อยากจะเป็นวีเจทั้งหลาย จะลองพิจารณาและนำไปปฏิบัติ เพื่อวงการโทรทัศน์ เพื่อเยาวชน และเพื่อคุณภาพของตนเอง...ถ้ามันยากนักก็บอก แนะนำฟรีไม่มีปัญหา แต่อย่าหาว่าป้าแก่แล้วบ่น

Friday, May 25, 2012

โปรดิวเซอร์ทีวี...ทำอะไร


ใครไม่เคยอยู่ในวงการโทรทัศน์ก็คงยากที่จะเข้าใจได้ว่า อาชีพโปรดิวเซอร์นั้น ทำอะไร

สมัยที่ผู้เขียนทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ไม่ชอบตอบเลยเวลาครอบครัวฐาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ ถามว่าทำงานอะไร เพราะพอบอกว่าเป็น โปรดิวเซอร์ ทุกคนก็ทำหน้าเอ๋อใส่ เราก็ต้องอธิบายกันต่ออีกยาว..เพราะทำเยอะมาก งานโปรดิวเซอร์เป็นงานที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และยิ่งไม่ใช่อาชีพที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง ครู แพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิก ที่เมื่อกล่าวถึง ใครๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าลักษณะงานควรเป็นอย่างไร

แล้วโปรดิวเซอร์ต้องทำอะไรบ้าง

โปรดิวเซอร์ (producer) มีหน้าที่ผลิต หรือ produce รายการโทรทัศน์ ในทุกๆ ขั้นตอน โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือก่อนการผลิต (เตรียมการ) การผลิต (ถ่ายทำรายการ) และหลังการผลิต (ตัดต่อ แต่งภาพและเสียง และภาพเอฟเฟ็กต์ต่างๆ)  จนกระทั่งออกมาเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ออกไป ไม่ว่าจะโดยการแพร่ภาพออกอากาศหรือไม่ก็ตาม (อย่างรายการที่เผยเพร่เฉพาะทางอินเทอร์เน็ต หรือ เป็น VCD/DVD เช่นสื่อการเรียนการสอน) ซึ่งการที่จะทำขั้นตอนต่างๆ เหล่านั้นได้ โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องรู้ทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการผลิต รวมไปถึงบุคลากรหรือทีมงานที่ต้องใช้ในการผลิตด้วย

สรุปสั้นๆ ก็คือ รายการโทรทัศน์ที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตทั้งหมดก็คือ โปรดิวเซอร์ นั่นเอง ในองค์กรขนาดเล็ก โปรดิวเซอร์อาจเป็นทั้งผู้ผลิต คนเขียนบท ผู้กำกับรายการ และแม้กระทั่งผู้ตัดต่อเอง แต่ในองค์กรใหญ่ๆ มักมีบุคลากรทำหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น คนเขียนบท (บางแห่งใช้ครีเอทีฟเป็นผู้เขียนบท) เจ้าหน้าที่ตัดต่อ ซึ่งแม้จะมีคนทำหน้าที่เหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ผู้ที่ต้องควบคุมดูแล กำหนดแนวทาง ก็คือ โปรดิวเซอร์นั่นเอง

งานของโปรดิวเซอร์

เนื่องจากการผลิตรายการโทรทัศน์คือการทำงานของหลาย ๆ ฝ่ายร่วมกัน ทำให้งานหลักของโปรดิวเซอร์มักเป็นเรื่องของการจัดการและการประสานงานมากกว่าอย่างอื่น ในฐานะที่โปรดิวเซอร์เป็นผู้ควบคุมการผลิตให้เกิดขึ้น จึงเป็นเหมือนผู้นำทีมการผลิตจึงต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้แต่ละฝ่ายทำงานของตนให้ทันตามกำหนดเวลา และคอยแก้ไขสะสางปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องในการทำงาน แต่ในฐานะหนึ่งในทีมงานการผลิต เราอาจเปรียบการทำงา่นของโปรดิวเซอร์ได้ ดังนี้

1. UPlannerU  โปรดิวเซอร์ คือนักวางแผน

โปรดิวเซอร์ เป็นผู้ทำให้ ความคิด (idea) ออกมาเป็นรูปเป็นร่างเพื่อนำไปสู่การผลิต หรือ สคริปต์ (script) โดยความคิดนี้อาจเกิดขึ้นได้สองกรณี

·        การรับคำสั่งให้ผลิตจากผู้บริหาร หรืออาจเป็นการรับโจทย์จากลูกค้า เช่น เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการลงโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือ เอเจนซี่โฆษณา ซึ่งจะเป็นฝ่ายกำหนดมาว่า อยากได้รายการแบบไหนเพื่อให้เข้ากับผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมายของตน เช่น รายการแนวท่องเที่ยว วาไรตี้ ทอล์คโชว์ เป็นต้น กรณีนี้ก็เหมือนกับการ customize รายการโทรทัศน์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สนับสนุนรายการ รายการประเภทนี้มักมีชื่อสินค้าในชื่อรายการด้วย (แต่ก็แล้วแต่การขายของฝ่ายการตลาดว่าไปตกลงกับลูกค้าไว้อย่างไร) เช่น รายการ Sony Style ทางช่อง AXN เป็นต้น
·        ผลิตรายการก่อนขาย ทำนองเดียวกับการ สร้างบ้านก่อนขาย คือคิดรายการเพื่อผลิตป้อนช่องตนเอง เป็นการผลิตรายการขึ้นก่อน ค่อยนำรายการไปขายให้กับผู้สนับสนุนที่น่าจะสนใจรายการประเภทนี้

ในการคิดรูปแบบรายการและเนื้อหานั้นบางบริษัทจะมีครีเอทีฟ (Creative) ทำหน้าที่นี้ แต่ก็ยังมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำงานร่วมกันกับโปรดิวเซอร์ ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยนำแนวทางด้านการผลิตให้กับครีเอทีฟ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้นสามารถนำมาผลิตเป็นรายการโทรทัศน์ได้จริงภายใต้งบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งหากครีเอทีฟไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการผลิตก็อาจคิดรายการที่ทำออกมาไม่ได้ (ด้วยข้อจำกัดต่างๆขององค์กร) เมื่อได้ ไอเดีย ในการผลิตสร้างสรรค์รายการมาแล้ว ตรงนี้เองที่โปรดิวเซอร์ ในฐานะนักวางแผน ต้องกำหนดว่าจะทำการผลิตอย่างไร  ตั้งแต่รูปแบบรายการ (เช่น รายการคุย สัมภาษณ์ แบบกันเอง หรือ แบบทางการ มีพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการหรือไม่ แบ่งรายการเป็นกี่ช่วง เนื้อหาในแต่ละช่วงมีอะไรบ้าง) ไปจนถึงกำหนดตารางหรือแผนการถ่ายทำต่างๆ เช่น

·   สถานที่ถ่ายทำ (ในสตูดิโอ หรือ นอกสตูดิโอ) ถ้าถ่ายข้างนอกต้องมีการขออนุญาตสถานที่ล่วงหน้าหรือไม่ นานเท่าไหร่
·        ต้องใช้กล้องตัวเดียวหรือหลายตัว
·        มีทีมงานที่ต้องใช้ต่อการผลิตหนึ่งครั้ง (หนึ่งเทป) กี่ึคน
·        ถ้าถ่ายทำนอกสถานที่ จำเป็นต้องมีการจัดแสงหรือใช้ไฟเพิ่มเติมหรือไม่
·        จะทำสต็อกเทปหรือไม่ ถ้าต้องทำ จะวางแผนการบันทึกเทปอย่างไร
·        คิวพิธีกร สถานที่ถ่ายทำรายการ รถ ว่างหรือไม่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างสิ่งที่โปรดิวเซอร์จะต้องวางแผนเท่านั้น จะเห็นได้ว่า
โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์อย่างละเอียดเป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อจะได้วางแผนการผลิตต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน 

แต่การวางแผนแม้ว่าจะดีแค่ไหนแต่ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าทำตามแผนการผลิตที่วางไว้ไม่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับนักวางแผนที่ดีก็คือการทำตามแผนการผลิตนั้นให้ได้อย่างเคร่งครัดนั่นเอง

2. UResearcherU  โปรดิวเซอร์ คือ นักค้นคว้า

เมื่อได้ไอเดียทำรายการมาแล้ว โปรดิวเซอร์ต้องทำการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของรายการ (บางองค์กรอาจมีผู้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ เช่น ฝ่ายข้อมูล หรือให้ครีเอทีฟเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วแต่ว่าเนื้อหาของรายการเน้นด้านนี้มากน้อยเพียงใด) ซึ่งแม้จะมีฝ่ายข้อมูลหรือผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยค้นคว้า แต่โปรดิวเซอร์ก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย ข้อมูลส่วนใดที่อ่านแล้วเกิดคำถาม ก็ต้องหาคำตอบ เพราะนั่นอาจเป็นคำถามเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคนดูก็ได้ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายการโดยเฉพาะที่เน้นข่าวสารข้อมูล จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ทั้งถูกต้องและครบถ้วน

3. UCreativeU  โปรดิวเซอร์ คือ นักสร้างสรรค์รายการ

ในบางครั้ง โปรดิวเซอร์ในองค์กรขนาดเล็กหรือโปรดักชั่นเฮ้าส์ (บริษัทที่รับหน้าที่ผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนสถานีโทรทัศน์หรือช่องต่างๆ โดยมีทีมงานของตนเองหรือจ้างคนอื่นอีกทอดหนึ่ง) จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟ เพื่อสร้างสรรค์ให้รายการมีเนื้อหาที่ใหม่ ทันสมัย และน่าสนใจอยู่เสมอ

ตัวอย่างเช่น โปรดิวเซอร์รายการเพลง ก็ต้องคิดบทพูดใหม่ๆ ให้กับวีเจบ้าง ไม่ใช่เขียนสคริปต์ให้วีเจพูดเหมือนเดิมทุกวัน ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงก็ต้องหลากหลายและทันสมัย เช่นหากวันนี้พูดว่าใครแต่งเพลงนี้ไปแล้ว พรุ่งนี้หากมีการเปิดเพลงนี้อีก ก็ต้องพูดเกี่ยวกับเพลงในประเด็นอื่นบ้าง เช่น อัพเดทข่าวของศิลปินเพลงนั้น หรือกล่าวถึงตัวมิวสิกวิดีโอบ้าง หรือ ในช่วงเทศกาลพิเศษอาจคิดธีม (Theme) สำหรับใช้ในรายการ  เช่น ช่วงคริสต์มาส หากเป็นรายการที่ปรกติถ่ายบน blue screen ก็อาจเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นถ่ายทำในฉากที่มีต้นคริสต์มาสบ้าง เป็นต้น เพื่อให้รายการดูทันสมัย update และมีสีสันอยู่เสมอ 

โปรดิวเซอร์ที่เป็นนักวางแผนที่ดี สามารถคิดธีมที่เป็นเทศกาลได้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี ไม่ใช่มาเตรียมล่วงหน้าเพียงสัปดาห์เดียว (หรือบางทีก็กระชั้นกว่านั้น) การคิดธีมล่วงหน้าช่วยเพิ่มสีสันและลูกเล่นให้กับรายการได้มากกว่าการเตรียมตัวเพียงระยะสั้นๆ เช่น อาจสั่งทำกราฟิกลูกเล่นเพิ่ม (ซึ่งการทำกราฟิก อาจต้องใช้เวลานาน) เปลี่ยน background ใหม่เฉพาะเทศกาลให้กับรายการที่ถ่ายทำบนบลูสกรีน เป็นต้น

4. UWriterU  โปรดิวเซอร์ คือ นักเขียน

โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ บางครั้งต้องทำหน้าที่เขียนสคริปต์หรือบทพูดด้วย และในการเขียนบทนี้ โปรดิวเซอร์อาจต้องสวมบทของครีเอทีฟด้วย เพื่อสร้างสรรค์คำพูดใหม่ๆ ให้แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะรายการที่มีการออกอากาศทุกวัน จำเป็นต้องเปลี่ยนคำพูดบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย หรือถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็อาจทำบทพูดให้เหมือนเดิมทุกวัน แต่เป็นการตั้งใจทำ มีจุดประสงค์เพื่อให้คนดูจำได้ หรือเป็นการให้ข้อมูลจำเป็นสำหรับผู้ชมที่อาจดูรายการเป็นครั้งแรก เช่น

รายการนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝ่าด่านสุดสยองสามด่าน ผู้ที่ทำไม่ได้จะถูกกำจัดออกไป ส่วนผู้ที่ผ่านทั้งสามด่านได้และทำเวลาได้ดีที่สุดจะได้รับรางวัล 3 แสนบาท สิ่งที่เกิดขึ้นในรายการนี้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากมืออาชีพ บุคคลใดๆ ไม่ควรลองหรือพยายามทำไม่ว่าในสถานที่ใดก็ตาม

ในฐานะนักเขียน โปรดิวเซอร์ ต้องมีพื้นฐานการเขียนที่ดี และเขียนบทให้เหมาะกับรูปแบบรายการ เช่น รายการบันเทิงเชิง gossip ควรใช้คำทันสมัย วัยรุ่น ส่วนรายการสารคดี ต้องเขียนบทให้เป็นทางการมากกว่า เพราะต้องการความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ การเขียนUบทพูดUก็ต้องใช้UภาษาพูดU เพื่อให้พิธีกรผู้ดำเนินรายการสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ เพราะคนดูคงไม่ต้องการพิธีกรที่มาอ่านสคริปต์ให้ฟัง

5. UController (Manager)U   โปรดิวเซอร์ คือ ผู้ควบคุม หรือ ผู้จัดการ

ในส่วนของการเตรียมการผลิต โปรดิวเซอร์ต้องควบคุมดูแลหรือจัดการให้ครีเอทีฟ ฝ่ายข้อมูล ฝ่ายกราฟิก ออกแบบฉาก ฯลฯ ทำงานของตนให้เสร็จทันกำหนด เพื่อจะได้เริ่มต้นการถ่ายทำได้ ในส่วนของการผลิตรายการ (ในกรณีที่องค์กรไม่มีตำแหน่งผู้กำกับ) โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องควบคุมการดำเนินรายการของพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการหรือผู้ประกาศข่าวการให้คิวพิธีกร คอยดูให้การเปิด VTR หรือ ภาพข่าว หรือสกู๊ปรายการเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง ไปจนถึงการสั่งคัตเพื่อเข้าช่วงโฆษณาหรือการสั่งให้ถ่ายใหม่ (เทค) ในส่วนของ post production หรือขั้นตอนหลังการผลิต โปรดิวเซอร์ก็ต้องควบคุมเจ้าหน้าที่ตัดต่อให้ลำดับภาพตรงตามเป้าหมายหรือเนื้อหาของรายการ หรือให้เหมาะสมกับลำดับเวลา กำหนดความเร็ว-ช้าในการดำเนินเรื่อง และ/หรือกำหนดส่วนที่ต้องการเอฟเฟ็กต์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟ็กต์ภาพหรือเสียง และเมื่องานเสร็จก็ต้องดูแลควบคุมคุณภาพของรายการให้ได้มาตรฐานด้วย หากมีส่วนใดของภาพเสีย หรือเสียงไม่ชัด โปรดิวเซอร์ต้องรู้และสั่งแก้ไขก่อนที่จะงานจะแพร่ภาพออกอากาศไป

ท้ายที่สุด โปรดิวเซอร์ ต้องทำหน้าที่เหมือนเซ็นเซอร์ในฐานะผู้ผลิตสื่อที่เป็นมวลชน ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อต่อสังคมด้วย เช่น หากมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ก็ต้องสั่งให้ตัดออกหรือทำการแก้ไขทันที หรือหากเป็นรายการเกี่ยวกับเครื่องดื่มมึนเมา ก็อาจต้องพิจารณาความเหมาะสมเอง เช่น ขึ้นตัวหนังสือ หรือคำเตือนในรายการ

6. UHandymanU  โปรดิวเซอร์ คือ สารพัดช่าง

โปรดิวเซอร์ มีหน้าที่แก้ไขปัญหาทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต เพื่อให้การผลิตรายการดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาระยะยาว

ปัญหาเฉพาะหน้า มักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตรายการ เช่น อุปกรณ์เสีย เทปยับ ลืมถ่าย พิธีกรมาสาย ฯลฯ หรือในระหว่างการออกอากาศสด เช่น สัญญาณหายภาพไม่มา หรือหน้าจอดำ ไฟดับ  พิธีกรไม่รู้จะพูดอะไรจนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า Dead Air เป็นต้น ส่วนปัญหาระยะยาว ได้แก่ อุปกรณ์ขาดแคลน บุคลากรไม่เพียงพอ องค์กรไม่จัดสรรงบประมาณ รายการขายไม่ออก เป็นต้น

ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ โปรดิวเซอร์ต้องสามารถคิดหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ เพื่อให้มีผลงานออกอากาศทันตามกำหนดหรือออกมาดีที่สุด (อย่าลืมว่าโปรดิวเซอร์ก็เป็นคนควบคุมคุณภาพรายการ (quality control) ด้วยเหมือนกัน)

7. UBusinesspersonU  โปรดิวเซอร์ คือ นักธุรกิจ

ในการนำเสนอโครงการผลิตรายการ (proposal) ไม่ว่าจะเป็นการเสนอต่อผู้บริหารหรือผู้สนับสนุนรายการ โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องมีทักษะในการพูดโน้มน้าวใจเพื่อให้ลูกค้า (หรือผู้บริหาร) ซื้อ รายการของตน เพื่อจะได้ผลิตรายการตามที่คิดไว้ แม้ว่าตามหลักแล้ว องค์กรมักมี ฝ่ายขาย ที่ทำหน้าที่นี้ แต่ในการออกไปพบปะลูกค้าที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนรายการนั้น โปรดิวเซอร์อาจต้องออกไปช่วยนำเสนอรายการด้วย เนื่องจาก  โปรดิวเซอร์เป็นผู้ที่รู้จักรายการของตนดีที่สุดและสามารถให้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายการรวมทั้งเทคนิคด้านการผลิตได้อีกด้วย ที่สำคัญเมื่อมองในด้านของโปรดิวเซอร์แล้ว การออกไป present งานต่อลูกค้าพร้อมกับฝ่ายขายนั้น จะส่งผลดีในอีกทางหนึ่ง นั่นคือโปรดิวเซอร์สามารถควบคุมไม่ให้ฝ่ายขาย รับปาก ลูกค้าจนเกินเลยความสามารถในการผลิตของเราได้ด้วย

นอกจากนี้ โปรดิวเซอร์ ยังต้องสามารถประเมินต้นทุนการผลิต จัดทำงบประมาณ และใช้ทักษะการพูดเพื่อโน้มน้าวใจให้คนในทีมทำงานให้กับตนได้อย่างเต็มใจและเต็มความสามารถด้วย

จะเห็นได้ว่า งานของโปรดิวเซอร์นั้นมีความหลากหลาย ต้องอาศัยทักษะต่างๆ มากมาย จึงไม่น่าเแปลกใจที่คนที่เป็นโปรดิวเซอร์จะไม่สามารถอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจลักษณะงานในอาชีพได้ง่ายนัก

บทเรียนจากประสบการณ์ : The Five P’s

หลักการที่โปรดิวเซอร์ควรยึดไว้เป็นสรณะ คือ หลัก 5 P Pre-Planning Prevents Poor Performance” เนื่องเพราะการเตรียมการที่ดีย่อมเป็นการป้องกันความผิดพลาด และเมื่อไม่เกิดความผิดพลาด ผลงานที่ได้ก็จะออกมาดี จะเห็นได้ว่าในบรรดาบทบาทของการเป็นโปรดิวเซอร์ทั้งหมดนั้น การเป็นนักวางแผนที่ดี ถือว่าเป็นหลักสำคัญประการแรกของการประกอบอาชีพนี้เลยทีเดียว


What It Takes To Be A Producer

คุณลักษณะของโปรดิวเซอร์นั้น เมื่อดูจากลักษณะงานข้างต้น อาจพอสรุปได้ดังนี้

1.       People Skill มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักวิธีพูด 
2.       Managerial Skill มีทักษะในด้านการจัดการ การวางแผน รู้จักใช้งานคนในถูกงานและหน้าที่ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในบางครั้ง โปรดิวเซอร์อาจมีผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ (หรือ บางแห่งเรียก co-producer หรือ line producer ก็มี)  อาจต้องมีการแจกจ่ายหรือแบ่งงานกันออกไป ดังนั้น โปรดิวเซอร์ควรรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเป็นอย่างดี ใครถนัดรายการแนวไหน หรือว่าถนัดในเรื่องใด ควรจัดสรรงานให้ตามความเหมาะสมและความถนัดของแต่ละคนเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
3.       Problem Solving Skill มีทักษะในด้านการแก้ปัญหาที่ดี ซึ่งทักษะข้อนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และสะสมจากประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก
4.       Leadership Skill ทักษะในด้านความเป็นผู้นำ เนื่องจากโปรดิวเซอร์ก็คือผู้นำทีมงานการผลิตทั้งหมดนั่นเอง หากโปรดิวเซอร์เป็นคนโลเล ตัดสินใจอะไรไม่ได้ การทำงานก็เกิดอุปสรรคไม่ราบรื่น เหมือนต้นหนที่ไม่รู้จะนำเรือไปในทิศใดเมื่อเห็นทางแยกอยู่ข้างหน้า
5.       Team Player นอกจากจะเป็นผู้นำแล้ว โปรดิวเซอร์ยังต้องเป็นผู้เล่นในทีมด้วย นั่นก็คือทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนในทีม และต้องเข้าใจว่าการผลิตหรือ production ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ต่างก็เป็นผลรวมของความพยายามในการทำงานร่วมกันของแต่ละบุคคลที่มีทักษะเฉพาะ การผลิตรายการโทรทัศน์จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันจากทุกฝ่าย โปรดิวเซอร์จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะงานของฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างดีอีกด้วย
6.       Punctuality สิ่งสำคัญสำหรับโปรดิวเซอร์ทุกคนคือการเป็นคนตรงต่อเวลา เพราะการผลิตรายการโทรทัศน์ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ความล่าช้าของใครคนใดคนหนึ่งในทีม ก็จะส่งผลต่อคนอื่นๆ ในทีมต่อกันไปเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถทำงานให้เสร็จภายใต้กำหนดเวลาออกอากาศ หรือกำหนดส่งงานด้วย
7.       Flexibility ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการผลิตรายการโทรทัศน์ก็คือ การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพในสาขานี้ จำเป็นต้องฝึกตนเองให้เป็นคนที่ยืดหยุ่น และรู้จักปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้อยู่เสมอ อย่าสร้างกรอบทางเดินให้กับตัวเอง การแก้ปัญหาให้เกิดผลที่ดีที่สุดนั้น บางครั้งก็ต้องมีการยืดหยุ่น โอนอ่อนผ่อนตาม และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ให้ได้

อย่างไรก็ดี โปรดิวเซอร์ไม่ใช่ยอดมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีคุณลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทั้งหมด ถึงจะทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ได้ การเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้น เมื่อได้ทำงานในอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นเหล่านี้ได้เอง


How To Enjoy Being A Producer

ในการเป็นโปรดิวเซอร์นั้น ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยตัวอักษร P ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต (Preproduction, Production, Postproduction) และหลักการ 5P (Pre-Planning Prevents Poor Performance) จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าการทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้ สนุก และ มีประสิทธิภาพ นั้น ก็ยังคงต้องพบกับ P อีกหลายตัวดังนี้

·        UPassion ความรักในงาน
จงรักในสิ่งที่เราทำ ถ้าสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาในใจได้ก่อน ชีวิตการทำงานจะมีความสุข ไม่จำกัดแต่เฉพาะการเป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ได้กับการประกอบอาชีพในสาขาอื่นๆ ได้ทุกสาขา การที่เรารักในงานของตัวเอง ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข และไม่ท้อถอยแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

·        UProfessionalism ความเป็นมืออาชีพ
ความเป็นมืออาชีพคือยึดหลักความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและทำอย่างตั้งใจ (และทำด้วย “passion”) รู้จักแบ่งแยกเรื่องงานก็คืองาน ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้ามีปัญหากับผู้ร่วมงานด้วยเรื่องส่วนตัว เมื่อต้องทำงานด้วยกัน ก็ต้องพูดคุยประสานงานกัน และไม่เอามาเป็นเหตุในการกลั่นแกล้งกันจนเสียงาน

·        UProof of Quality พิสูจน์ความมีคุณภาพ
การเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่ดี ควรตรวจสอบคุณภาพของรายการที่ผลิตก่อนออกอากาศทุกครั้ง ดังนั้น เมื่อจะผลิตรายการใดๆ ก็ต้องให้งานออกมามีคุณภาพให้มากที่สุด (และแน่นอนว่างานที่มีการวางแผนและดำเนินการตามแผนได้ย่อมออกมาคุณภาพดี)

·        UPriority จัดลำดับความสำคัญ
ในชีวิตการทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นไม่ได้ที่จะมีงานเข้ามาทีละอย่าง บ่อยครั้งที่โปรดิวเซอร์หนึ่งคนต้องรับงานผลิตรายการมากกว่าหนึ่งรายการ โปรดิวเซอร์จึงต้องรู้จักลำดับความสำคัญของงาน ไม่เช่นนั้น จะทำงานไม่เสร็จหรือเสร็จไม่ทันเลยสักอย่าง

ใครที่ได้ร่ำเรียนวิชาการผลิตรายการโทรทัศน์มา ก็สามารถเข้าไปทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จในสายงานนี้ หากไม่รู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ จนสามารถเป็นโปรดิวเซอร์ที่ ดี และ มีคุณภาพ