ใครไม่เคยอยู่ในวงการโทรทัศน์ก็คงยากที่จะเข้าใจได้ว่า
อาชีพโปรดิวเซอร์นั้น ทำอะไร
สมัยที่ผู้เขียนทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ ไม่ชอบตอบเลยเวลาครอบครัวฐาติพี่น้องหรือเพื่อนๆ ถามว่าทำงานอะไร เพราะพอบอกว่าเป็น โปรดิวเซอร์ ทุกคนก็ทำหน้าเอ๋อใส่ เราก็ต้องอธิบายกันต่ออีกยาว..เพราะทำเยอะมาก งานโปรดิวเซอร์เป็นงานที่มีความหลากหลาย
ซับซ้อน และยิ่งไม่ใช่อาชีพที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง ครู แพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิก ที่เมื่อกล่าวถึง
ใครๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าลักษณะงานควรเป็นอย่างไร
แล้วโปรดิวเซอร์ต้องทำอะไรบ้าง
โปรดิวเซอร์ (producer) มีหน้าที่ผลิต หรือ produce รายการโทรทัศน์ ในทุกๆ ขั้นตอน
โดยทั่วไปแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือก่อนการผลิต (เตรียมการ) การผลิต
(ถ่ายทำรายการ) และหลังการผลิต (ตัดต่อ แต่งภาพและเสียง และภาพเอฟเฟ็กต์ต่างๆ) จนกระทั่งออกมาเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ออกไป
ไม่ว่าจะโดยการแพร่ภาพออกอากาศหรือไม่ก็ตาม (อย่างรายการที่เผยเพร่เฉพาะทางอินเทอร์เน็ต หรือ เป็น VCD/DVD
เช่นสื่อการเรียนการสอน) ซึ่งการที่จะทำขั้นตอนต่างๆ
เหล่านั้นได้ โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องรู้ทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการผลิต
รวมไปถึงบุคลากรหรือทีมงานที่ต้องใช้ในการผลิตด้วย
สรุปสั้นๆ ก็คือ รายการโทรทัศน์ที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตทั้งหมดก็คือ โปรดิวเซอร์ นั่นเอง ในองค์กรขนาดเล็ก
โปรดิวเซอร์อาจเป็นทั้งผู้ผลิต คนเขียนบท ผู้กำกับรายการ
และแม้กระทั่งผู้ตัดต่อเอง แต่ในองค์กรใหญ่ๆ มักมีบุคลากรทำหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น
คนเขียนบท (บางแห่งใช้ครีเอทีฟเป็นผู้เขียนบท) เจ้าหน้าที่ตัดต่อ
ซึ่งแม้จะมีคนทำหน้าที่เหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ผู้ที่ต้องควบคุมดูแล กำหนดแนวทาง
ก็คือ โปรดิวเซอร์นั่นเอง
งานของโปรดิวเซอร์
เนื่องจากการผลิตรายการโทรทัศน์คือการทำงานของหลาย ๆ ฝ่ายร่วมกัน ทำให้งานหลักของโปรดิวเซอร์มักเป็นเรื่องของการจัดการและการประสานงานมากกว่าอย่างอื่น
ในฐานะที่โปรดิวเซอร์เป็นผู้ควบคุมการผลิตให้เกิดขึ้น จึงเป็นเหมือนผู้นำทีมการผลิตจึงต้องทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้แต่ละฝ่ายทำงานของตนให้ทันตามกำหนดเวลา
และคอยแก้ไขสะสางปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องในการทำงาน แต่ในฐานะหนึ่งในทีมงานการผลิต
เราอาจเปรียบการทำงา่นของโปรดิวเซอร์ได้ ดังนี้
1. UPlannerU โปรดิวเซอร์ คือนักวางแผน
โปรดิวเซอร์ เป็นผู้ทำให้ “ความคิด” (idea) ออกมาเป็นรูปเป็นร่างเพื่อนำไปสู่การผลิต
หรือ สคริปต์ (script) โดยความคิดนี้อาจเกิดขึ้นได้สองกรณี
·
การรับคำสั่งให้ผลิตจากผู้บริหาร หรืออาจเป็นการรับโจทย์จากลูกค้า
เช่น เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการลงโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือ เอเจนซี่โฆษณา
ซึ่งจะเป็นฝ่ายกำหนดมาว่า อยากได้รายการแบบไหนเพื่อให้เข้ากับผลิตภัณฑ์และกลุ่มเป้าหมายของตน
เช่น รายการแนวท่องเที่ยว วาไรตี้ ทอล์คโชว์ เป็นต้น กรณีนี้ก็เหมือนกับการ customize
รายการโทรทัศน์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สนับสนุนรายการ รายการประเภทนี้มักมีชื่อสินค้าในชื่อรายการด้วย (แต่ก็แล้วแต่การขายของฝ่ายการตลาดว่าไปตกลงกับลูกค้าไว้อย่างไร) เช่น รายการ Sony Style ทางช่อง AXN เป็นต้น
·
ผลิตรายการก่อนขาย ทำนองเดียวกับการ “สร้างบ้านก่อนขาย” คือคิดรายการเพื่อผลิตป้อนช่องตนเอง เป็นการผลิตรายการขึ้นก่อน
ค่อยนำรายการไปขายให้กับผู้สนับสนุนที่น่าจะสนใจรายการประเภทนี้
ในการคิดรูปแบบรายการและเนื้อหานั้นบางบริษัทจะมีครีเอทีฟ (Creative) ทำหน้าที่นี้ แต่ก็ยังมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำงานร่วมกันกับโปรดิวเซอร์
ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยนำแนวทางด้านการผลิตให้กับครีเอทีฟ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่คิดขึ้นมานั้นสามารถนำมาผลิตเป็นรายการโทรทัศน์ได้จริงภายใต้งบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่
ซึ่งหากครีเอทีฟไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการผลิตก็อาจคิดรายการที่ทำออกมาไม่ได้
(ด้วยข้อจำกัดต่างๆขององค์กร) เมื่อได้ “ไอเดีย” ในการผลิตสร้างสรรค์รายการมาแล้ว ตรงนี้เองที่โปรดิวเซอร์
ในฐานะนักวางแผน ต้องกำหนดว่าจะทำการผลิตอย่างไร ตั้งแต่รูปแบบรายการ (เช่น รายการคุย สัมภาษณ์
แบบกันเอง หรือ แบบทางการ มีพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการหรือไม่ แบ่งรายการเป็นกี่ช่วง
เนื้อหาในแต่ละช่วงมีอะไรบ้าง) ไปจนถึงกำหนดตารางหรือแผนการถ่ายทำต่างๆ เช่น
· สถานที่ถ่ายทำ (ในสตูดิโอ หรือ นอกสตูดิโอ) ถ้าถ่ายข้างนอกต้องมีการขออนุญาตสถานที่ล่วงหน้าหรือไม่
นานเท่าไหร่
·
ต้องใช้กล้องตัวเดียวหรือหลายตัว
·
มีทีมงานที่ต้องใช้ต่อการผลิตหนึ่งครั้ง (หนึ่งเทป) กี่ึคน
·
ถ้าถ่ายทำนอกสถานที่ จำเป็นต้องมีการจัดแสงหรือใช้ไฟเพิ่มเติมหรือไม่
·
จะทำสต็อกเทปหรือไม่ ถ้าต้องทำ จะวางแผนการบันทึกเทปอย่างไร
·
คิวพิธีกร สถานที่ถ่ายทำรายการ รถ ว่างหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างสิ่งที่โปรดิวเซอร์จะต้องวางแผนเท่านั้น จะเห็นได้ว่า
โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการผลิตรายการโทรทัศน์อย่างละเอียดเป็นพื้นฐานสำคัญ
เพื่อจะได้วางแผนการผลิตต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน
แต่การวางแผนแม้ว่าจะดีแค่ไหนแต่ก็ไม่มีประโยชน์ถ้าทำตามแผนการผลิตที่วางไว้ไม่ได้
ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับนักวางแผนที่ดีก็คือการทำตามแผนการผลิตนั้นให้ได้อย่างเคร่งครัดนั่นเอง
2. UResearcherU โปรดิวเซอร์ คือ นักค้นคว้า
เมื่อได้ไอเดียทำรายการมาแล้ว
โปรดิวเซอร์ต้องทำการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของรายการ
(บางองค์กรอาจมีผู้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ เช่น ฝ่ายข้อมูล หรือให้ครีเอทีฟเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วแต่ว่าเนื้อหาของรายการเน้นด้านนี้มากน้อยเพียงใด)
ซึ่งแม้จะมีฝ่ายข้อมูลหรือผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยค้นคว้า แต่โปรดิวเซอร์ก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ
ด้วย ข้อมูลส่วนใดที่อ่านแล้วเกิดคำถาม ก็ต้องหาคำตอบ
เพราะนั่นอาจเป็นคำถามเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคนดูก็ได้
ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายการโดยเฉพาะที่เน้นข่าวสารข้อมูล จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ทั้งถูกต้องและครบถ้วน
3. UCreativeU โปรดิวเซอร์ คือ นักสร้างสรรค์รายการ
ในบางครั้ง
โปรดิวเซอร์ในองค์กรขนาดเล็กหรือโปรดักชั่นเฮ้าส์
(บริษัทที่รับหน้าที่ผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนสถานีโทรทัศน์หรือช่องต่างๆ
โดยมีทีมงานของตนเองหรือจ้างคนอื่นอีกทอดหนึ่ง) จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟ
เพื่อสร้างสรรค์ให้รายการมีเนื้อหาที่ใหม่ ทันสมัย และน่าสนใจอยู่เสมอ
ตัวอย่างเช่น
โปรดิวเซอร์รายการเพลง ก็ต้องคิดบทพูดใหม่ๆ ให้กับวีเจบ้าง
ไม่ใช่เขียนสคริปต์ให้วีเจพูดเหมือนเดิมทุกวัน
ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงก็ต้องหลากหลายและทันสมัย
เช่นหากวันนี้พูดว่าใครแต่งเพลงนี้ไปแล้ว พรุ่งนี้หากมีการเปิดเพลงนี้อีก
ก็ต้องพูดเกี่ยวกับเพลงในประเด็นอื่นบ้าง เช่น อัพเดทข่าวของศิลปินเพลงนั้น
หรือกล่าวถึงตัวมิวสิกวิดีโอบ้าง หรือ ในช่วงเทศกาลพิเศษอาจคิดธีม (Theme) สำหรับใช้ในรายการ
เช่น ช่วงคริสต์มาส หากเป็นรายการที่ปรกติถ่ายบน blue screen
ก็อาจเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นถ่ายทำในฉากที่มีต้นคริสต์มาสบ้าง เป็นต้น
เพื่อให้รายการดูทันสมัย update และมีสีสันอยู่เสมอ
โปรดิวเซอร์ที่เป็นนักวางแผนที่ดี สามารถคิดธีมที่เป็นเทศกาลได้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี ไม่ใช่มาเตรียมล่วงหน้าเพียงสัปดาห์เดียว (หรือบางทีก็กระชั้นกว่านั้น) การคิดธีมล่วงหน้าช่วยเพิ่มสีสันและลูกเล่นให้กับรายการได้มากกว่าการเตรียมตัวเพียงระยะสั้นๆ
เช่น อาจสั่งทำกราฟิกลูกเล่นเพิ่ม (ซึ่งการทำกราฟิก อาจต้องใช้เวลานาน) เปลี่ยน background ใหม่เฉพาะเทศกาลให้กับรายการที่ถ่ายทำบนบลูสกรีน เป็นต้น
4. UWriterU
โปรดิวเซอร์ คือ นักเขียน
โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์
บางครั้งต้องทำหน้าที่เขียนสคริปต์หรือบทพูดด้วย และในการเขียนบทนี้
โปรดิวเซอร์อาจต้องสวมบทของครีเอทีฟด้วย เพื่อสร้างสรรค์คำพูดใหม่ๆ ให้แตกต่างจากเดิม
โดยเฉพาะรายการที่มีการออกอากาศทุกวัน จำเป็นต้องเปลี่ยนคำพูดบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย
หรือถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็อาจทำบทพูดให้เหมือนเดิมทุกวัน แต่เป็นการตั้งใจทำ มีจุดประสงค์เพื่อให้คนดูจำได้
หรือเป็นการให้ข้อมูลจำเป็นสำหรับผู้ชมที่อาจดูรายการเป็นครั้งแรก เช่น
“รายการนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝ่าด่านสุดสยองสามด่าน
ผู้ที่ทำไม่ได้จะถูกกำจัดออกไป
ส่วนผู้ที่ผ่านทั้งสามด่านได้และทำเวลาได้ดีที่สุดจะได้รับรางวัล 3 แสนบาท สิ่งที่เกิดขึ้นในรายการนี้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากมืออาชีพ
บุคคลใดๆ ไม่ควรลองหรือพยายามทำไม่ว่าในสถานที่ใดก็ตาม”
ในฐานะนักเขียน โปรดิวเซอร์
ต้องมีพื้นฐานการเขียนที่ดี และเขียนบทให้เหมาะกับรูปแบบรายการ เช่น
รายการบันเทิงเชิง gossip ควรใช้คำทันสมัย วัยรุ่น ส่วนรายการสารคดี
ต้องเขียนบทให้เป็นทางการมากกว่า เพราะต้องการความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ การเขียนUบทพูดUก็ต้องใช้UภาษาพูดU
เพื่อให้พิธีกรผู้ดำเนินรายการสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ
เพราะคนดูคงไม่ต้องการพิธีกรที่มาอ่านสคริปต์ให้ฟัง
5. UController (Manager)U โปรดิวเซอร์ คือ ผู้ควบคุม หรือ ผู้จัดการ
ในส่วนของการเตรียมการผลิต
โปรดิวเซอร์ต้องควบคุมดูแลหรือจัดการให้ครีเอทีฟ ฝ่ายข้อมูล ฝ่ายกราฟิก ออกแบบฉาก
ฯลฯ ทำงานของตนให้เสร็จทันกำหนด เพื่อจะได้เริ่มต้นการถ่ายทำได้
ในส่วนของการผลิตรายการ (ในกรณีที่องค์กรไม่มีตำแหน่งผู้กำกับ)
โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องควบคุมการดำเนินรายการของพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการหรือผู้ประกาศข่าวการให้คิวพิธีกร
คอยดูให้การเปิด VTR หรือ ภาพข่าว หรือสกู๊ปรายการเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง
ไปจนถึงการสั่งคัตเพื่อเข้าช่วงโฆษณาหรือการสั่งให้ถ่ายใหม่ (เทค) ในส่วนของ post
production หรือขั้นตอนหลังการผลิต โปรดิวเซอร์ก็ต้องควบคุมเจ้าหน้าที่ตัดต่อให้ลำดับภาพตรงตามเป้าหมายหรือเนื้อหาของรายการ
หรือให้เหมาะสมกับลำดับเวลา กำหนดความเร็ว-ช้าในการดำเนินเรื่อง
และ/หรือกำหนดส่วนที่ต้องการเอฟเฟ็กต์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟ็กต์ภาพหรือเสียง
และเมื่องานเสร็จก็ต้องดูแลควบคุมคุณภาพของรายการให้ได้มาตรฐานด้วย
หากมีส่วนใดของภาพเสีย หรือเสียงไม่ชัด โปรดิวเซอร์ต้องรู้และสั่งแก้ไขก่อนที่จะงานจะแพร่ภาพออกอากาศไป
ท้ายที่สุด โปรดิวเซอร์
ต้องทำหน้าที่เหมือนเซ็นเซอร์ในฐานะผู้ผลิตสื่อที่เป็นมวลชน
ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อต่อสังคมด้วย เช่น
หากมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ก็ต้องสั่งให้ตัดออกหรือทำการแก้ไขทันที
หรือหากเป็นรายการเกี่ยวกับเครื่องดื่มมึนเมา ก็อาจต้องพิจารณาความเหมาะสมเอง เช่น
ขึ้นตัวหนังสือ หรือคำเตือนในรายการ
6. UHandymanU โปรดิวเซอร์ คือ สารพัดช่าง
โปรดิวเซอร์ มีหน้าที่แก้ไขปัญหาทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต
เพื่อให้การผลิตรายการดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาระยะยาว
ปัญหาเฉพาะหน้า
มักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิตรายการ เช่น อุปกรณ์เสีย เทปยับ ลืมถ่าย พิธีกรมาสาย
ฯลฯ หรือในระหว่างการออกอากาศสด เช่น สัญญาณหายภาพไม่มา หรือหน้าจอดำ ไฟดับ พิธีกรไม่รู้จะพูดอะไรจนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า
Dead Air เป็นต้น ส่วนปัญหาระยะยาว ได้แก่ อุปกรณ์ขาดแคลน บุคลากรไม่เพียงพอ องค์กรไม่จัดสรรงบประมาณ
รายการขายไม่ออก เป็นต้น
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ โปรดิวเซอร์ต้องสามารถคิดหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ให้ได้
เพื่อให้มีผลงานออกอากาศทันตามกำหนดหรือออกมาดีที่สุด
(อย่าลืมว่าโปรดิวเซอร์ก็เป็นคนควบคุมคุณภาพรายการ (quality control) ด้วยเหมือนกัน)
7. UBusinesspersonU โปรดิวเซอร์ คือ นักธุรกิจ
ในการนำเสนอโครงการผลิตรายการ
(proposal) ไม่ว่าจะเป็นการเสนอต่อผู้บริหารหรือผู้สนับสนุนรายการ โปรดิวเซอร์จำเป็นต้องมีทักษะในการพูดโน้มน้าวใจเพื่อให้ลูกค้า
(หรือผู้บริหาร) “ซื้อ” รายการของตน
เพื่อจะได้ผลิตรายการตามที่คิดไว้ แม้ว่าตามหลักแล้ว องค์กรมักมี “ฝ่ายขาย” ที่ทำหน้าที่นี้
แต่ในการออกไปพบปะลูกค้าที่จะมาเป็นผู้สนับสนุนรายการนั้น
โปรดิวเซอร์อาจต้องออกไปช่วยนำเสนอรายการด้วย
เนื่องจาก โปรดิวเซอร์เป็นผู้ที่รู้จักรายการของตนดีที่สุดและสามารถให้คำตอบที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหารายการรวมทั้งเทคนิคด้านการผลิตได้อีกด้วย
ที่สำคัญเมื่อมองในด้านของโปรดิวเซอร์แล้ว การออกไป present งานต่อลูกค้าพร้อมกับฝ่ายขายนั้น จะส่งผลดีในอีกทางหนึ่ง
นั่นคือโปรดิวเซอร์สามารถควบคุมไม่ให้ฝ่ายขาย “รับปาก” ลูกค้าจนเกินเลยความสามารถในการผลิตของเราได้ด้วย
นอกจากนี้ โปรดิวเซอร์ ยังต้องสามารถประเมินต้นทุนการผลิต จัดทำงบประมาณ
และใช้ทักษะการพูดเพื่อโน้มน้าวใจให้คนในทีมทำงานให้กับตนได้อย่างเต็มใจและเต็มความสามารถด้วย
จะเห็นได้ว่า
งานของโปรดิวเซอร์นั้นมีความหลากหลาย ต้องอาศัยทักษะต่างๆ มากมาย
จึงไม่น่าเแปลกใจที่คนที่เป็นโปรดิวเซอร์จะไม่สามารถอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจลักษณะงานในอาชีพได้ง่ายนัก
บทเรียนจากประสบการณ์ : The Five P’s
หลักการที่โปรดิวเซอร์ควรยึดไว้เป็นสรณะ
คือ หลัก 5 P “Pre-Planning Prevents
Poor Performance” เนื่องเพราะการเตรียมการที่ดีย่อมเป็นการป้องกันความผิดพลาด
และเมื่อไม่เกิดความผิดพลาด ผลงานที่ได้ก็จะออกมาดี
จะเห็นได้ว่าในบรรดาบทบาทของการเป็นโปรดิวเซอร์ทั้งหมดนั้น การเป็นนักวางแผนที่ดี
ถือว่าเป็นหลักสำคัญประการแรกของการประกอบอาชีพนี้เลยทีเดียว
What
It Takes To Be A Producer
คุณลักษณะของโปรดิวเซอร์นั้น เมื่อดูจากลักษณะงานข้างต้น อาจพอสรุปได้ดังนี้
1.
People Skill มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รู้จักวิธีพูด
2.
Managerial Skill มีทักษะในด้านการจัดการ การวางแผน รู้จักใช้งานคนในถูกงานและหน้าที่
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในบางครั้ง โปรดิวเซอร์อาจมีผู้ใต้บังคับบัญชา คือ
ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ (หรือ บางแห่งเรียก co-producer หรือ
line producer ก็มี) อาจต้องมีการแจกจ่ายหรือแบ่งงานกันออกไป
ดังนั้น โปรดิวเซอร์ควรรู้จักผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเป็นอย่างดี
ใครถนัดรายการแนวไหน หรือว่าถนัดในเรื่องใด
ควรจัดสรรงานให้ตามความเหมาะสมและความถนัดของแต่ละคนเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
3.
Problem Solving Skill มีทักษะในด้านการแก้ปัญหาที่ดี
ซึ่งทักษะข้อนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และสะสมจากประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก
4.
Leadership Skill ทักษะในด้านความเป็นผู้นำ
เนื่องจากโปรดิวเซอร์ก็คือผู้นำทีมงานการผลิตทั้งหมดนั่นเอง
หากโปรดิวเซอร์เป็นคนโลเล ตัดสินใจอะไรไม่ได้ การทำงานก็เกิดอุปสรรคไม่ราบรื่น
เหมือนต้นหนที่ไม่รู้จะนำเรือไปในทิศใดเมื่อเห็นทางแยกอยู่ข้างหน้า
5.
Team Player นอกจากจะเป็นผู้นำแล้ว
โปรดิวเซอร์ยังต้องเป็นผู้เล่นในทีมด้วย นั่นก็คือทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนในทีม
และต้องเข้าใจว่าการผลิตหรือ production
ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก
ต่างก็เป็นผลรวมของความพยายามในการทำงานร่วมกันของแต่ละบุคคลที่มีทักษะเฉพาะ การผลิตรายการโทรทัศน์จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันจากทุกฝ่าย
โปรดิวเซอร์จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะงานของฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างดีอีกด้วย
6.
Punctuality
สิ่งสำคัญสำหรับโปรดิวเซอร์ทุกคนคือการเป็นคนตรงต่อเวลา
เพราะการผลิตรายการโทรทัศน์ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น
ความล่าช้าของใครคนใดคนหนึ่งในทีม ก็จะส่งผลต่อคนอื่นๆ ในทีมต่อกันไปเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้
ยังต้องสามารถทำงานให้เสร็จภายใต้กำหนดเวลาออกอากาศ หรือกำหนดส่งงานด้วย
7.
Flexibility ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการผลิตรายการโทรทัศน์ก็คือ
การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น
ผู้ที่ประกอบอาชีพในสาขานี้ จำเป็นต้องฝึกตนเองให้เป็นคนที่ยืดหยุ่น
และรู้จักปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้อยู่เสมอ อย่าสร้างกรอบทางเดินให้กับตัวเอง การแก้ปัญหาให้เกิดผลที่ดีที่สุดนั้น
บางครั้งก็ต้องมีการยืดหยุ่น โอนอ่อนผ่อนตาม และปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ให้ได้
อย่างไรก็ดี
โปรดิวเซอร์ไม่ใช่ยอดมนุษย์ ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีคุณลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทั้งหมด
ถึงจะทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ได้ การเป็นโปรดิวเซอร์
เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้น
เมื่อได้ทำงานในอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ
ที่จำเป็นเหล่านี้ได้เอง
How To Enjoy Being A Producer
ในการเป็นโปรดิวเซอร์นั้น
ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยตัวอักษร P ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต (Preproduction, Production,
Postproduction) และหลักการ 5P (Pre-Planning
Prevents Poor Performance) จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าการทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้
“สนุก” และ “มีประสิทธิภาพ” นั้น ก็ยังคงต้องพบกับ P อีกหลายตัวดังนี้
·
UPassion
ความรักในงาน
“จงรักในสิ่งที่เราทำ” ถ้าสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาในใจได้ก่อน
ชีวิตการทำงานจะมีความสุข ไม่จำกัดแต่เฉพาะการเป็นโปรดิวเซอร์เท่านั้น
แต่ยังสามารถนำไปใช้ได้กับการประกอบอาชีพในสาขาอื่นๆ ได้ทุกสาขา การที่เรารักในงานของตัวเอง
ทำให้เราทำงานได้อย่างมีความสุข และไม่ท้อถอยแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ
·
UProfessionalism ความเป็นมืออาชีพ
ความเป็นมืออาชีพคือยึดหลักความรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและทำอย่างตั้งใจ
(และทำด้วย “passion”) รู้จักแบ่งแยกเรื่องงานก็คืองาน ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องส่วนตัว
ถ้ามีปัญหากับผู้ร่วมงานด้วยเรื่องส่วนตัว เมื่อต้องทำงานด้วยกัน
ก็ต้องพูดคุยประสานงานกัน และไม่เอามาเป็นเหตุในการกลั่นแกล้งกันจนเสียงาน
·
UProof of Quality พิสูจน์ความมีคุณภาพ
การเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่ดี
ควรตรวจสอบคุณภาพของรายการที่ผลิตก่อนออกอากาศทุกครั้ง ดังนั้น
เมื่อจะผลิตรายการใดๆ ก็ต้องให้งานออกมามีคุณภาพให้มากที่สุด (และแน่นอนว่างานที่มีการวางแผนและดำเนินการตามแผนได้ย่อมออกมาคุณภาพดี)
·
UPriority จัดลำดับความสำคัญ
ในชีวิตการทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ เป็นไม่ได้ที่จะมีงานเข้ามาทีละอย่าง บ่อยครั้งที่โปรดิวเซอร์หนึ่งคนต้องรับงานผลิตรายการมากกว่าหนึ่งรายการ โปรดิวเซอร์จึงต้องรู้จักลำดับความสำคัญของงาน
ไม่เช่นนั้น จะทำงานไม่เสร็จหรือเสร็จไม่ทันเลยสักอย่าง
ใครที่ได้ร่ำเรียนวิชาการผลิตรายการโทรทัศน์มา
ก็สามารถเข้าไปทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ได้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จในสายงานนี้ หากไม่รู้จักเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
จนสามารถเป็นโปรดิวเซอร์ที่ “ดี” และ “มีคุณภาพ”
ขอบคุณมากนะค่ะ (^/|\^)
ReplyDeleteสวัสดีค่ะ เข้ามาอ่านแล้วรู้สึกว่างานโปรดิวเซอร์มีความหลากหลายมากเลยคัะ พอดีมีตนรู้จักเขาทำงานด้านนี้อยู่ ก็เลยอยากจะสอบถามว่า คนที่ทำงานด้านนี้จะไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวใช่ไหมค่ะ รบกวนช่วยตอบด้วยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ
ReplyDeleteคนที่ทำงานด้านนี้จะไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัวใช่ไหมค่ะ>>
ReplyDeleteใช่แล้วค่ะ เพราะงานเลิกไม่เป็นเวลา คนรอบข้างต้องพยายามทำความเข้าใจค่ะ ทั้งครอบครัว แฟน (หลายคนมีปัญหากับแฟนก็มี) เพื่อนถ้าอยู่วงการอื่นก็ห่างหายเหมือนกันค่ะ...
สนใจมากครับใครทำได้ตามนี้ ติดต่อมานะครับ 089-2020193 CEO BC Event
ReplyDeleteขอบคุณครับ ..จริงทุกอย่าง
ReplyDeleteใช่และจริงในทุกๆข้อ..
ReplyDeleteขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ
ReplyDeleteยินดีค่ะ ^^
Delete